‘เขื่อนอุบลรัตน์’ติดลบ 20 ถึงกับใช้น้ำก้นอ่าง หนักสุดรอบ 23 ปี เขื่อนภูมิพลน้อยใจหายเหลือ 4%

เมื่อวันที่ 16 เมษายน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รายงานปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในประเทศไทยล่าสุดว่า ปริมาณน้ำใช้การ ของ 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นั้น มีน้ำใช้การได้รวม 2,087 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยขณะนี้เ ขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริง 519 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4 ของระดับน้ำเก็บกักของอ่าง (รนก.) เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริง 1,055 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11 เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำใช้ได้จริง 239 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 25 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้ได้จริง 274 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 29 โดยแผนการใช้น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 – 30 มิถุนายน 2559 คาดการณ์ไว้ที่ 3,500 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการระบายน้ำไปแล้ว 2,801 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่เขื่อนหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณใช้ได้จริง 63 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 20 เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณใช้ได้จริง -20 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ -1 และเขื่อนจุฬาภรณ์ 20 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 12 ภาคตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 1,819 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10 และเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 1,113 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13 ภาคตะวันออก เขื่อนขุนด่านปราการชล มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 71 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 และเขื่อนคลองสียัด มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 73 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ17 ภาคใต้ เขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 2,763 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 49 และเขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 587 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 40

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการ สสนก. กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้จริงในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งยังคงมีปริมาณน้อยมาก โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งขณะนี้ไม่เหลือน้ำกักเก็บที่สามารถใช้การได้ ต้องนำน้ำก้นอ่างขึ้นมาใช้ ซึ่งโดยทั่วไปอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง จะกันน้ำก้นอ่างไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพของอ่างเก็บน้ำ จะไม่นำน้ำก้นอ่างมาใช้ แต่สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ไม่เหลือน้ำที่ใช้การได้แล้ว จึงจำเป็นต้องนำน้ำก้นอ่างขึ้นมาใช้จนถึงขณะนี้ราว 20 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการกักเก็บน้ำก้นอ่างไว้ที่ 500 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ว่าจนถึงเดือนกรกฎาคมที่จะเข้าสู่ฤดูฝน จำเป็นต้องนำน้ำก้นอ่างมาใช้ประมาณ 180 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าเขื่อนอุบลรัตน์ประสบปัญหาภัยแล้งหนักสุดในรอบ 23 ปี ซึ่งในปี 2536 ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง ได้นำน้ำก้นอ่างมาใช้ 200 ล้าน ลบ.ม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image