ยกของขึ้นที่สูง! นับถอยหลัง 36 ชม. มวลน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ไหลเข้าเมืองเพชรบุรี

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 6 สิงหาคม แบบจำลองสภาวะอากาศ(วาฟ-รอม) สถาบันสาระสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ระบุด้วยว่า การเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ในเวลานี้นั้นคาดการณ์ว่าจะเทียบเท่า หรือสูงกว่าปี 2560 เล็กน้อย ทั้งนี้ แหล่งที่มาของน้ำ ของปีนี้เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2560 นั้น มีความแตกต่างกัน คือ เมื่อ เดือน พฤศจิกายน ปี 2560 จ.เพชรบุรีมีฝนตกหนักมากตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน และน้ำเริ่มท่วมในวันที่ 22 พฤศจิกายน โดยมีการเคลื่อนตัวของฝนเข้ามาทางอ่าวไทย จนถึงกลางลุ่มน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำสาขาลำน้ำห้วยแม่ประจัน ซึ่งในขณะนั้น มีน้ำอยู่ในเขื่อนแก่งกระจาน เพียงแค่ครึ่งเดียวของความจุเท่านั้น

วาฟ ระบุด้วยว่า ส่วนในปีนี้ เนื่องจากแนวฝนเคลื่อนตัวเข้าแนวเทือกเขาเข้ามาจากพม่า จากกระแสลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงต่อเนื่อง ทำให่น้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานจำนวนมากจนเต็มความจุเก็บกัก และในวันนี้เริ่มมีน้ำล้นออกทางสปิลเวย์แล้ว โดยคาดว่ามวลน้ำที่ล้นสปิลเวย์จะไหลลงไปยังงเขื่อนเพชร ด้วยอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ซึ่งเขื่อนเพชรจะสามารถตัดยอดน้ำดังกล่าวเข้าคลองชลประทานได้ 70 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ดังนั้น จะเหลือน้ำซึ่งจะไหลไปยังตัวเมืองเพชรบุรีอีก 230 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที แต่แม่น้ำเพชรบุรี ในช่วงตัวเมืองสามารถรับได้เพียง 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น ดังนั้นน้ำส่วนเกินจะล้นจากแม่น้ำเพชรบุรีเข้าสู่เมืองได้

“แต่ขณะนี้ก็ยังมีปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่เหนือเขื่อนแก่งกระจานจำนวนมาก จะคล้ายกับที่ฝนตกเมื่อวันที่ 15-22 กรกฎาคม 2561 ที่ทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ซึ่งหากมีน้ำหลากลงมามากขึ้น อาจทำให้มีน้ำไหลล้นออกทางสปิลเวย์เพิ่มกว่าที่คาดการเอาไว้ได้ เวลานี้ น้ำในแม่น้ำเพชรยังต่ำกว่าตลิ่งอยู่ประมาณ 2.5 เมตร อย่างไรก็ตาม คาดว่า นับจากนี้อีกประมาณ 36 ชั่วโมง มวลน้ำดังกล่าวจะไหลไปถึง ตัวเมืองเพชรบุรี ” วาฟระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image