“อากาศร้อนนัก”มาดูวิธีการคลายร้อนของ”ชาลี ชักกุย”หมีควายน้อยหัวใจสุนทรีย์ที่อุทยานฯกุยบุรีกัน

ตามที่ “มติชนออนไลน์” ได้นำเสนอเรื่องราวของ “ชาลี ชักกุย” หมีควายน้อย ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ก่อนหน้านี้ ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯไปเจอเจ้าหมีน้อยวัยเดือนเศษๆ กำลังถูกหมารุมกัด ในบริเวณไร่สัปปะรดใกล้ๆอุทยานฯจึงพากลับมารักษาเลี้ยงดู กะไว้ว่า เมื่อแข็งแรงดีแล้ว จะส่งไปอยู่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่ภายหลังพบว่า เจ้าหมีมีอาการป่วยเป็นโรคลมชัก จะต้องได้รับยาทุกวันเพื่อป้องกันอาการชัก ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยนายประวัติศาสตร์ จันทรเทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในขณะนั้น และเจ้าหน้าที่อุทยานฯคนอื่นๆ ช่วยกันรับผิดชอบ ใช้เงินส่วนตัว ในการดูแลรักษา ต่อมา ได้ตั้งชื่อเจ้าหมีควายน้อยตัวนี้ว่า “ชาลี ชักกุย” มีที่มาที่ไปจาก การที่ไปเจอเจ้าหมี นอนชักอยู่ในไร่สัปปะรด ที่กุยบุรี เป็นการล้อไปกับชื่อเล่นของ นักฟุตบอลกองกลางทีมชาติไทย ชื่อดังมากในขณะนั้น คือ ชาริล ชัปปุย นั่นเอง

“ชักกุย” เป็นหมีควายที่ค่อนข้างจะ เชื่อง คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่อุทยานกุยบุรี และนักท่องเที่ยว ที่แวะเข้าไปเที่ยวชมอุทยานแห่งนี้ เจ้าหมีน้อยถูกเลี้ยงดูอย่างค่อนข้างอิสระ ไม่ได้ถูกกักขัง แต่ หัวหน้าประวัติศาสตร์ ได้ขอให้นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติ หรือ หมอล๊อต มาดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพราะชักกุยต้องกินยากันชักทุกวัน มิฉะนั้นอาการชักจะกำเริบขึ้นมาได้

ช่วงฤดูหนาว ที่ผ่านมา “มติชนออนไลน์” ไปเยี่ยมเจ้าชักกุย ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ตอนนั้นอากาศหนาว เจ้าชักกุย ป่วยเป็นโรคปอดบวม ไข้ขึ้นสูง ทุกคนต้องช่วยกันประคบประหงมดูแลเต็มที่ มีการจัดเวรยามผลัดกันดูอาการเจ้าหมีน้อย จนกระทั่งมันหายเป็นปกติ สามารถกลับมาวิ่งเล่น หยอกล้อกับเจ้าหน้าที่ และนักท่องเที่ยวที่แวะไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้เหมือนเดิม

4
หัวหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ ได้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดาแล้ว แต่ยังมีความผูกพันกับเจ้าชักกุยอย่างเหนียวแน่น เรียกว่า เป็นพ่อทูลหัวของเจ้าหมีควายน้อยเลยก็ว่าได้ แม้นานๆครั้งจะได้เดินทางลงไปเยี่ยมเจ้าชักกุย แต่เจ้าหมีก็ยังจำพ่อทูลหัวของมันได้อย่างดี

Advertisement

“เราก็ดีใจเขาก็ดีใจ ที่ได้พบกันอีก ผมห่วงสุขภาพเขามาก ล่าสุดได้ปรึกษากับหมอล๊อต ที่เราวางแผนกันว่า หากรักษาอาการเจ้าชักกุยให้หายแล้ว เราจะเอาเขาไปปล่อยให้ใช้ชีวิตในป่าเหมือนหมีควายป่าทั่วไปได้ แต่ทุกวันนี้เจ้าชักกุยยังอาการไม่ดีขึ้น แม้โดยทั่วไปมันดูแข็งแรง ขี้เล่น เป็นมิตร แต่เรายังต้องให้กินยากันชักทุกวัน เช้า 3 เม็ด เย็น 3 เม็ด ไม่งั้นมันก็จะมีอาการขึ้นมาทันที แผนการเอาชักกุยไปปล่อยป่าจึงพับไว้ก่อน”หัวหน้าประวัติศาสตร์ บอก

2

เข้าเดือนเมษายน อากาศร้อนจัด พื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ เงาฝน คือ ฝนตกน้อย และอากาศค่อนข้างจะร้อนจัดกว่าพื้นที่อื่นๆอยู่แล้ว ทุกชีวิต ได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศเช่นนี้ถ้วนหน้า ไม่เว้นแต่เจ้าชักกุย อย่างไรก็ตาม เจ้าหมีน้อยก็มีวิธีคลายความร้อนให้ตัวเอง โดยการลงไปนอนแช่น้ำ ในบ่อน้ำเล็กๆที่เจ้าหน้าทำเอาไว้ สำหรับมันโดยเฉพาะ

Advertisement

11

“ชักกุยเขาเป็นหมีขี้แอ๊ค ตอนแรก ผมคิดว่า เขาลงไปเล่นน้ำ ลงไปนอนนิ่งๆในน้ำ พอพวกเราถ่ายรูปเสร็จ ก็จะกลับขึ้นมา ที่ไหนได้ มันหลับในน้ำเลย หลับสนิทด้วย ไม่เคยเห็นหมีหลับในน้ำเหมือนกัน นี่เป็นครั้งแรกเลย แสดงว่ามันร้อนมาก เป็นวิธีการคลายร้อนตามประสาหมี มันตลกดี แต่กำชับเจ้าหน้าที่เอาไว้ว่า อย่าให้มันแช่บ่อย เพราะชักกุยไม่ได้กินนมแม่ตอนเล็กๆ มันไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกันโรคมากนัก กลัวว่าเดี๋ยวจะไม่สบายขึ้นมาอีก” หัวหน้าประวัติศาสตร์บอก

วันนี้ มติชนออนไลน์ นำเสนอภาพ เจ้า ชาลี ชักกุย ให้ชม ความน่ารักของมันน่าจะคลายร้อนกันได้บ้าง

6

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image