เหยี่ยวถลาลม : อะไรทำได้-ทำไม่ได้

นักการเมืองกับพรรคการเมืองอาจจะกำลังสับสนว่า ภายใต้ระบอบการปกครอง “คสช.” นี้อะไรทำได้ และอะไรทำไม่ได้

คำสั่ง คสช.ที่ 7/2557 ที่ห้ามไม่ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เกิน 5 คน กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ยังคง “ค้ำคอ” อยู่

แต่กลุ่มการเมืองที่มีนามว่า “สามมิตร” กลับสามารถเคลื่อนไหวอย่างเฉิดฉาย คึกคัก ประเดี๋ยวโผล่ไปตรงโน้น โผล่ไปตรงนั้น เที่ยวพบปะผู้นำท้องถิ่น ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำระดับตำบลจนถึงอดีต ส.ส.ที่เคยสังกัดทั้งพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย

ไปคุยอะไรกัน?

Advertisement

ทำแบบนั้นเป็นการเอารัดเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมืองเกินไปหรือไม่ “กติกา” ทั้งหลายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้เปรียบจนหาที่สุดมิได้แล้ว 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งนั้นคือ “250 เสียง” ที่ชาตินี้ทั้งชาติ ตั้งแต่เป็นพรรคการเมืองมา “ประชาธิปัตย์” ยังไม่เคยได้ลิ้มลอง

การเคลื่อนไหวของ “สามมิตร” จึงเอาเปรียบ “ประชาธิปัตย์” กับ “เพื่อไทย” และ “อนาคตใหม่” มากเกินไป

แต่ “กกต.” ก็ทำอะไรกลุ่มสามมิตรไม่ได้

ก็ “สามมิตร” ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง จะบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองได้อย่างไร

มีแต่พวกพรรคการเมืองที่เดินตามตรอก ออกทางประตู เท่านั้นที่ถูก “กฎหมาย” รัดคอเอาไว้

“สามมิตร” ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง หรือใครจะยุยงให้ “คสช.” ใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.ที่ 7/2557 นั่นก็ “เป็นไปไม่ได้”

“คสช.” รู้ดีมาแต่ต้นว่า “สามมิตร” คือเพื่อน ลงพื้นที่ไปก็เพื่อ “หยั่งเสียง” กับรับฟังปัญหาในท้องถิ่น รับฟังความต้องการของผู้นำชุมชนในตำบล หมู่บ้าน จะได้รวบรวมมาเสนอให้รัฐบาล คสช. ครุ่นคิดพิจารณาตามแนวทางปรองดองคนภายในชาติ

ด้วยเหตุนี้ “สามมิตร” จะเคลื่อนไหวหรือรวมตัวกันกี่คนก็ได้ จะทำกิจกรรมการเมืองที่ไหน และทำกี่ครั้งก็ “ไม่เป็นไร” เพราะไม่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และไม่สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล

คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นมือกฎหมายของรัฐบาล ช่วยตอกย้ำความจริงข้อนี้อีกที ด้วยการยืนยันว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร เป็นการไปชักชวนคนเข้ากลุ่มหรือเป็นสมาชิก จึงไม่เป็นไร

“อะไรทำได้-ไม่ได้” ในประเทศไทยนี้มี “เส้นแบ่ง”

จำแนกได้ไม่ยาก !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image