7วันอันตราย ดับ 442 ศพ เจ็บร่วม 4 พัน เชียงใหม่แชมป์ ยึดรถเมาขับ 6,613 คัน

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 ว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร เกิดอุบัติเหตุ 343 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 45 ราย ผู้บาดเจ็บ 385 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ 14 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 18 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 35.57 เมาสุรา ร้อยละ 23.91 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.14 รองลงมา รถปิกอัพ ร้อยละ 8.00 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.27 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.98 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.99 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 26.82 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 46.43 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,120 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,739 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 617,870 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 95,483 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 28,099 ราย ไม่มีใบขับขี่ 26,661 ราย

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน (11-17เมษายน 2559) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,447 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 442 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,656 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด ยะลา ระนอง และหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 168 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา 19 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 175 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 34.09 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.93 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.67 รองลงมา รถปิกอัพ ร้อยละ 8.85 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.49 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.86 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.12 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01- 20.00 น. ร้อยละ 30.23 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.28 ทั้งนี้ ได้เรียกตรวจยานพาหนะ 4,433,019 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 730,271 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 211,502 ราย ไม่มีใบขับขี่ 204,006 ราย

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 46/2558 ประจำวันที่ 17 เมษายน 2559 ตรวจพบผู้กระทำผิดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับ 88,264 ราย แยกเป็นรถจักรยานยนต์พบการกระทำผิด 35,179 ราย ดำเนินการยึดรถ 610 คัน ยึดใบอนุญาตขับขี่ 475 ราย และส่งดำเนินคดีทางกฎหมาย 15,051 ราย รถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล ตรวจพบผู้กระทำผิด 19,230 ราย ดำเนินการยึดรถ 231 คัน ยึดใบอนุญาตขับขี่ 628 ราย และส่งดำเนินคดีทางกฎหมาย จำนวน 16,860 ราย สรุปผลการดำเนินการสะสมระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 ตรวจพบผู้กระทำผิดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับ 443,937 ราย แยกเป็น ยึดใบอนุญาตขับขี่ 17,449 ราย ส่งดำเนินคดีทางกฎหมาย 142,820 ราย ยึดรถ 6,613 คัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์ 4,963 คัน และรถยนต์ส่วนบุคคล 1,650 คัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image