หวั่นนโยบาย “จังหวัดปลอดพิษสุนัขบ้า” ทำพื้นที่ปกปิดข้อมูล ตัวเลขตายพุ่ง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการตรวจวิเคราะห์หัวสุนัขเพื่อหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลเป็นบวกจำนวนมากขึ้น และยังพบว่ามีการลุกลามทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล รวมไปถึงหลายจังหวัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ปัญหาคือ กลับพบการส่งเชื้อมายืนยันโรคพิษสุนัขบ้าที่ห้องปฏิบัติการน้อยลง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุมาจากนโยบายกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ต้องการให้แต่ละจังหวัดขจัดโรคพิษสุนัขบ้า และประกาศให้เป็นจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้านั้น ส่งผลให้หลายพื้นที่รายงานข้อมูลตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ครบถ้วน โดยเมื่อมีผู้เสียชีวิต ไม่มีการส่งยืนยันการตรวจเชื้อไปยังห้องปฏิบัติการ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

“สิ่งที่เกิดขึ้นน่ากังวล เนื่องจากไม่ใช่แค่ไม่ส่งตรวจยืนยันเชื้อ แต่ในบางพื้นที่ไม่มีการรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าด้วยซ้ำ ทำให้เสียโอกาสในการส่งทีมไปฉีดวัคซีนสุนัขในชุมชน ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากพิษสุนัขบ้าจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 10 ราย อาจเพิ่มขึ้นถึง 20-50 ราย เนื่องจากหากไม่มีการรายงาน ระบบในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคก็จะหย่อนยาน ยกตัวอย่าง เมื่อมีผู้เสียชีวิต จะต้องมีการเฝ้าระวังบุคคลอื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสโรคด้วย รวมถึงตัวสุนัขที่ป่วย ว่า มีโอกาสไปกัดกับสุนัขตัวอื่นๆ หรือไม่ เพราะเชื้อหมาบ้าจะไม่ได้เกิดในทันที แต่อาจใช้เวลาไปอีก 3-5 เดือนข้างหน้า ที่สำคัญโรคนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะฤดูร้อน หรืออากาศร้อนเท่านั้น แต่ฤดูฝนก็เกิดขึ้น เพราะข้อมูลที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิจจากหมากัดช่วงหน้าฝน และไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันทันที เนื่องจากเข้าใจว่าฤดูฝนไม่มีโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดๆ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า ไม่อยากให้ไทยเหมือนกับจีนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่สามารถควบคุมได้จากนั้นก็มาโผล่อีกใน 5 ปีถัดมา มีผู้ป่วย 5-6 พันราย เสียชีวิตทั้งหมดผู้สื่อข่าวถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า สธ.ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น และต้องหาทางแก้ไขกรณีบางพื้นที่ไม่ให้ข้อมูลครบถ้วนเรื่องผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า อย่างนโยบายจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ก็ต้องทำความเข้าใจดีๆ ว่าไม่ใช่ปกปิดกัน เพราะกลัวจะเป็นจังหวัดมีโรค แต่ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ จังหวัดไหนสามารถหาโรคพิษสุนัขบ้าได้  และสามารถจัดการควบคุมได้ภายใน 1-2 ปี แบบนี้น่าจะดีกว่า นอกจากนี้ อยากให้แพทย์อย่าประมาท กรณีคนที่ถูกสุนัขกัด นอกจากต้องฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว ควรฉีดสารสกัดน้ำเหลืองด้วย เพราะกว่าวัคซีนจะสามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ต้องใช้เวลานานถึง 14 วัน ซึ่งในช่วงนี้ต้องฉีดสารสกัดจากน้ำเหลืองเข้าที่แผลเพื่อทำลายเชื้อให้มากที่สุด หากไม่ฉีดในช่วงวิกฤต 14 วันแรกก็จะมีช่องโหว่ ทำให้ไวรัสหลุดเข้าไปในเส้นประสาท เมื่อหลุดเข้าไปแล้วไวรัสจะอยู่นิ่งๆ โดยไม่แสดงอาการ 3-4 สัปดาห์ ช่วงนี้จะรักษาไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ และเมื่อเริ่มมีอาการจะเสียชีวิตภายใน 1-2 สัปดาห์

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image