กทม.มอบ16รางวัลสุดยอดส้วมรณรงค์รักษาความสะอาด สวนสาธารณะ ปั๊ม ตลาดสด ศาสนสถาน

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานพิธีมอบรางวัลสุดยอดส้วมแห่งปีของกทม. ประจำปี 2559 จำนวน 16 รางวัล ให้กับสถานที่สาธารณะที่ผ่านการพิจารณาตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 17 คน โดยพิจารณาจากความสะอาด มีอ่างล้างมือ มีกระดาษชำระ สบู่ล้างมือ พื้นแห้ง จำนวนห้องน้ำเพียงพอต่อผู้มาใช้ ความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน ความสวยงาม การใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรและสารชีวภาพ การบำบัดและนำสิ่งปฏิกูลไปใช้ประโยชน์ และการเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งมีสถานที่เข้าร่วมประกวด 84 แห่ง

นางผุสดี กล่าวว่า สำหรับสถานที่สาธารณะที่ได้รับรางวัลสุดยอดส้วมแห่งปี 2559 จำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย 1.สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ 2.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 3.วัดเทพลีลา เขตบางกะปิ 4.มัสยิดบางอุทิศ เขตบางคอแหลม 5.โรงเรียนวัดจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ 6.วิทยาลัยดุสิตธานี เขตประเวศ 7.ร้านอาหาร London Street เขตสวนหลวง 8.บริษัท เพชรสุวรรณ พลังงาน จำกัด เขตลาดกระบัง 9.ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนบางแค เขตภาษีเจริญ 10.ตลาด FOOD VILLA เขตตลิ่งชัน 11.สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร 12.โครงการป่าในกรุง ปตท. เขตประเวศ 13.พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เขตบางกอกน้อย 14.โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล เขตหนองแขม 15.โรงพยาบาลกลาง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และ 16.สถานีรถไฟวัดสิงห์ เขตจอมทอง

นางผุสดี กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดดังกล่าวสำนักอนามัย ได้ร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสุขลักษณะของส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐาน มีความสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อต่างๆ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายในสถานที่สาธารณะ จำนวน 12 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ศาสนสถาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตลาดสด ร้านอาหาร โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ แหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สถานศึกษา สถานีขนส่ง และส้วมริมทาง แต่ปีนี้ส้วมริมทางไม่มีผู้ส่งเข้าประกวด และหลังจากนี้ กทม.จะส่งผู้ได้รับรางวัลทั้งหมดเข้าร่วมการแข่งขันส้วมแห่งปีระดับประเทศต่อไป

“ภาพรวมห้องน้ำสาธารณะในพื้นที่กทม.ในปัจจุบันมีการพัฒนาดีขึ้น บางส่วนต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาเพราะมีคนใช้เยอะ มีความหลากหลายของผู้คน ต่างคนต่างใช้ไม่คำนึงถึงคนใช้ต่อ ในส่วนนี้ที่ต้องเร่งรัดรณรงค์ให้มีการพัฒนาห้องน้ำ และสร้างจิตสำนึกการใช้ห้องน้ำสาธารณะร่วมกัน อาทิ สวนสาธารณะ ตลาดสด ศาสนสถาน ปั๊มน้ำมัน ทั้งนี้ กทม.พยายามรณรงค์ให้ห้องน้ำทุกแห่งมีห้องน้ำสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 ห้อง ขณะเดียวกัน ควรเพิ่มห้องน้ำหญิงมากกว่าห้องน้ำชาย เพื่อความสะดวก และอยากขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้บริการส้วมสาธารณะร่วมกันใช้ส้วมสาธารณะอย่างมีจิตสำนึกที่ดี คำนึงถึงผู้ใช้บริการคนต่อไป ใช้และรักษาความสะอาดส้วมสาธารณะให้เหมือนกับใช้และรักษาความสะอาดส้วมในบ้าน” นางผุสดี กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image