เหยี่ยวถลาลม : คนสำคัญ

รู้สึกห่วงจริงๆ เกรงว่าถ้าปล่อยไปให้มีอาการมากขึ้นผู้คนจะเบื่อหน่ายถอยหนี ที่ห้อมล้อมอยู่จะเหลือแต่จำพวก “ดีครับนายใช่ครับท่าน” พากันเข้ารกเข้าพง จนไม่อยากได้ยินได้ฟังสิ่งที่ขัดหูขัดคอ แล้วเธอจะกลายเป็นคนหูหนวกตาบอด

เป็นห่วงว่า “ความก้าวร้าว” จะกลายเป็นพฤติกรรมที่ระบาดในหมู่ผู้สำคัญตนว่ามีอำนาจเหนือกว่า จึงได้ลองค้นคว้าหาเรื่องราว นำมาบอกกล่าวกันเพื่อรู้เท่ารู้ทันอารมณ์

ในหนังสือ ชื่อ “ไซ-คิว : เชิงอรรถจิตวิทยา” ของ กิติกร มีทรัพย์ กับ และ ส. สีมา ได้อธิบายถึง “กลไกทางจิต” อย่างหนึ่งที่เรียกว่า “วิธีรักษาหน้า” ของคนเราว่ามีอยู่ 5 ท่วงท่า

และ 1 ใน 5 ท่วงท่านั้นก็คือ การโทษผู้อื่น หรือชี้ไปที่คนอื่น ซึ่งสื่อมวลชนจะโดนบ่อยๆ

Advertisement

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังได้อธิบายเรื่อง “บุคลิกภาพแปรปรวน” เอาไว้ด้วยว่า เป็นภาวะที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หวั่นไหวง่าย หุนหันพลันแล่น ระแวง แสดงออกโดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง

บุคลิกภาพที่แปรปรวนก็มีอยู่ 2 แบบ

หนึ่ง แบบอารมณ์ที่ไม่มั่นคง ควบคุมตนเองไม่ดี มักหลุดกิริยารุนแรง ก้าวร้าว ข่มขู่ มักเกิดเมื่อถูกซักถูกวิจารณ์

สอง แบบกึ่งดิบกึ่งสุก ซึ่งเป็นพวกที่ความภาคภูมิใจในตนเองบกพร่อง จะรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยว เศร้าหมอง จึงอาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแม้จะมีเหตุกระตุ้นแต่เพียงเล็กน้อย

จิตวิทยาน่าศึกษาเพื่อการรู้ทันพฤติกรรมคนรอบข้าง ทางหนึ่ง เพื่อให้การเรียนรู้ที่ถูกต้อง กับทางหนึ่ง เพื่อการฝึกฝน ขัดเกลาเอาชนะปฏิกิริยาทางด้านสัญชาตญาณ

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ในการจัดประชุมวิชาการประจำปี ของ “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร” ได้หยิบเอาพฤติการณ์ของ “คนสำคัญ” ไปเป็นกรณีศึกษา ในหัวข้อเรื่อง “การแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับภาพลักษณ์ของการเป็นนายกรัฐมนตรี”

ดร.ภาสกร อินทุมาร ผู้บรรยายมีความเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์วิเคราะห์ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองไม่ถูกต้อง จึงมีพฤติการณ์แสดงออกตามที่เห็น เช่น ใช้คำหยาบ หรือพยายามทำให้ตลก หรือคุยกับสัตว์ชนิดต่างๆ กระทั่งล่าสุดถึงกับไล่นักข่าวไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่

นั่นคือพฤติการณ์ของคนที่สำคัญผิด คิดว่าการเป็น “คนสำคัญ” นั้น จะใช้ท่วงท่าอารมณ์ที่แปรปรวนอย่างไรก็ได้ !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image