ชงเซฟตี้โซน ‘รามัน’ ความหวังดับไฟใต้

หลังการประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ที่มี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์Ž รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน มีข่าวว่า อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีแววว่าจะจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety ZoneŽ แห่งที่ 2 ต่อจาก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส นั้น ชาวอำเภอรามันและผู้เกี่ยวข้องต่างๆ จะว่าอย่างไรกันบ้าง

อับดุลการีม รามันศิริวงค์ ชาวบ้านตำบลอาซอง อำเภอรามัน บอกว่า มาตรการต่างๆ ที่ใช้ในเขตเซฟตี้โซน เช่น ให้เดินรถทางเดียวบางพื้นที่ในตัวอำเภอ กำหนดทางเข้าออก และมีจุดตรวจบริเวณทางเข้าและทางออก โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชนในเขตเซฟตี้โซนมั่นใจความปลอดภัย แต่อาจสร้างความไม่สะดวกให้กับประชาชนบ้าง

“อำเภอรามันไม่มีเหตุความรุนแรงมานานแล้ว ตามภูมิศาสตร์ เป็นพื้นที่ต่อสองจังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ติดอำเภอกะพ้อ และทุ่งยางแดง ส่วนจังหวัดนราธิวาสติดกับอำเภอรือเสาะ การจัดเซฟตี้โซนเป็นผลดีกับประชาชนที่มีอาชีพทำสวน ทำนาจะมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น”Ž อับดุลการีมให้ความเห็น

พล.ต.สมพล ปานกุล ผบ.หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส อธิบายว่า การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลไกขั้นแรกของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพื่อต้องการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันระหว่างคณะพูดคุยของฝ่ายรัฐบาลไทยกับ ตัวแทนฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ วิธีการพูดคุยจะเป็นอีกหนทางสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

Advertisement

อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เคยเกิดเหตุความรุนแรง จึงถูกเลือกเป็นพื้นที่นำร่อง ที่ฝ่ายตัวแทนกลุ่มเห็นต่างต้องทำให้เห็นว่าสามารถควบคุมดูแลสมาชิกไม่ให้ก่อเหตุสร้างสถานการณ์ ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็มีหน้าที่ต้องคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดเรื่องปัญหาต่างๆ เมื่อสำเร็จก็จะขยายไปยังอำเภออื่นๆ ต่อไป

ส่วนที่มีว่าจะเพิ่มพื้นที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแห่งที่ 2 นั้น มองว่าพื้นที่ไม่แตกต่างกันเพราะอำเภอรามัน เคยมีเหตุการณ์ความรุนแรงสูง การเลือกอำเภอที่มีความรุนแรงมากเป็นการยืนยันความจริงใจให้ภาพความสงบเกิดได้จริง และชาวบ้านจะได้รู้ว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ดีขึ้น ดูได้จากอดีตที่ชาวบ้านไม่ค่อยออกจากบ้าน แต่ปัจจุบัน 4-5 ทุ่ม ชาวบ้านออกมาใช้ชีวิตปกติ

“การจะจัดพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่ไหนนั้น ต้องมองที่ชาวบ้านก่อนว่ามีการตอบรับในเกณฑ์ดีหรือไม่ โดยรัฐบาลส่งบุคลากรเข้ามาช่วยในภาคประชาสังคมต่างๆ ทั้งจัดทำเวทีชาวบ้าน เพื่อขอทราบความคิดเห็นต่างๆ ว่าเห็นด้วยที่จะให้มีพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยเพราะจะช่วยสร้างความสงบ”Ž ผบ.หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสสรุป

Advertisement

ด้าน รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และ ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากที่มีการตกลงและตั้งเกณฑ์การจัดพื้นที่ปลอดภัย เอาไว้ได้แก่ อำเภอเจาะไอร้องและอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส, อำเภอรามันและอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา, อำเภอสายบุรีและอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ล่าสุดเตรียมการให้อำเภอรามัน เป็นอำเภอที่ 2 ในการทำเซฟตี้โซน

ถามว่าทำไมต้องเป็นอำเภอรามัน คิดว่ามันอยู่ในแผนอยู่แล้ว เพราะประเด็นคือพื้นที่ปลอดภัยตรงนี้จะลดความรุนแรงได้มาก แต่ที่ผ่านมาการดำเนินการยังไม่เห็นรูปร่างที่ชัดเจนพอ ต้องรอดูกันว่าจะมีการควบคุมไม่ให้เกิดเหตุได้มากน้อยแค่ไหม เพราะตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าเมื่อกำหนดพื้นที่ปลอดภัยแล้วต่อไปจะเป็นรูปธรรมแค่ไหน และต้องรอดูผลการเจรจาพูดคุยเพื่อสันติสุขที่จะมีขึ้นครั้งหน้าด้วยว่าฝ่ายรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียจะให้ใครทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก

”ต้องจับตาดูต่อไปว่าการเลือกอำเภอรามันเป็นพื้นที่ปลอดภัย ต่อจากอำเภอเจาะไอร้อง เพราะจะเกิดการเปรียบเทียบในความเป็นพื้นที่สีแดงเหมือนกัน การควบคุมดูแลความปลอดภัยจะเป็นจริงเป็นจังได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องวัดกันที่ความไว้เนื้อเชื่อใจของทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและฝั่งของกลุ่มมาลาปาตานี ที่เห็นต่างจากรัฐ จะเป็นการยืนยันศักยภาพเมื่อกำหนดพื้นที่โซนเอาไว้ทั้งสองฝั่ง จะมั่นใจแค่ไหนว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมŽ” รศ.ดร.สามารถตั้งข้อสังเกต

ความจริงใจของฝ่ายขบวนการเองยังไม่ชัดเจน สืบเนื่องมาจากหลายปัจจัย ทั้งจากความไม่นิ่งของขบวนการพูดคุยสันติสุข เหมือนว่ายังค้างอยู่ ยังไม่มีข่าวออกมาว่าจะมีการพูดคุยรอบต่อไปเมื่อไหร่ รัฐบาลใหม่ของมาเลเซียเองก็ยังไม่ได้เรียกมาคุย แต่ที่มีข่าวว่ากำหนดพื้นที่ปลอดภัยในอำเภอรามัน เป็นเพียงการประกาศให้เป็นข่าว ต้องรอดูว่าฝั่งมาลาปาตานีจะตกลงหรือไม่

“ที่ทางมาเลเซียเปลี่ยนรัฐบาลใหม่มองว่า ฝ่ายรัฐบาลไทยจะเสียเปรียบและตกเป็นรองที่ต้องให้ทางมาเลเซียเป็นผู้กำหนดมาใหม่ ซึ่งรัฐบาลไทยคงต้องทำได้แค่รอ จนขณะนี้ทางมาเลเซียยังไม่ประกาศชัดเจนว่าจะกำหนดการพูดคุยกันเมื่อไหร่ ต่างฝ่ายก็ต่างรอและยังประเมินไม่ได้Ž” รศ.ดร.สามารถสรุป

นิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ทรงคุณวุฒิ จ.ยะลา ให้ความเห็นว่าเซฟตี้โซน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งชุดประเมินพื้นที่ ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐ คนในพื้นที่ กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ มาร่วมด้วยเพื่อจะได้ข้อยุติเหมือนๆ กัน รวมถึงเตรียมการเรื่องอื่นๆ ต้องพูดคุยก่อน

จากนั้นชุดประเมินพื้นที่จะลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ น่าจะใช้เวลาพอสมควร เบื้องต้นจะกำหนดเซฟตี้โซนระดับอำเภอ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 5 จุด หากเซฟตี้โซนประสบความสำเร็จ สามารถให้ความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่ได้ ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาขั้นต่อไป คือการพัฒนาและการคืนความเป็นธรรม

“การจะตั้งเซฟตี้โซนนั้นได้สอบถามคนในพื้นที่ด้วย บางคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมต้องจัดเซฟตี้โซน ทั้งที่บ้านเมืองสงบดี กลัวว่าเมื่อไหร่ที่จัดเซฟตี้โซนแล้วเหมือนท้าทายฝ่ายตรงข้าม นี่คือความไม่มั่นใจในตัวเอง อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทุกเรื่องทุกประเด็น โดยใช้ศูนย์ประสานงานเกี่ยวกับความมั่งคงจะได้นำเสนอตรงผู้บริหาร โดยเป็นศูนย์รวมยุติธรรมและไว้วางใจได้ เพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่ จะช่วยคลี่คลายความรุนแรงเป็นรูปธรรมมากขึ้นŽ” ผู้นำศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้สรุปและแนะนำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image