คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ร่วม 19 สถาบันเครือข่าย แสดงจุดยืน คัดค้าน พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 3 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ และสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ปัญหา ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่” ซึ่งมี ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณะบดีคณะเภสัชศาสตร์ ผศ.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชศาสตร์ สังคมและบริหาร อ.ภก.คณิต สุวรรณบริรักษ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ อ.ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรง อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมเป็นวิทยาการ โดยเวทีเสวนามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านต่อนิสิต คณาจารย์และผู้สนใจ สร้างความตระหนักของพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ต่อความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนทุกคน รวมถึงข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมี นิสิตปัจจุบันและอดีตนิสิต คณาจารย์และภาคประชาชน ร่วมรับฟังเสวนาร่วม 200 คน ส่วนใหญ่นักวิชาการให้กล่าวถึงความเป็นมาของพ.ร.บ. และปัญหาการคัดค้านพ.ร.บ. ดังกล่าว

จากนั้น ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร แถลงต่อสื่อมวลชน โดยเป็นแถลงการณ์ กล่าวว่า ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา ฉบับพ.ศ. …. ทำให้หลายฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน พร้อมคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ดังนั้น คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันศึกษาขอแสดงจุดยืน โดยเครือข่ายคณาจารย์ นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับพ.ศ. …. ดังนี้ 1. ขอเสนอให้ชะลอการนำร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับพ.ศ. ….ต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอต่อครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2.ขอให้รัฐมนตรี สธ.จัดให้มีการหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับแก้ประเด็นปัญหาที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน 3.จัดให้มีการหารือระหว่างสถาบันศึกษา เครือข่ายวิชาชีพและภาคประชาชนร่วมสธ. 4.สธ.ต้องเร่งดำเนินการ ก่อนการคัดค้านนำไปสู่การขยายตัวไปเป็นการประท้วง และ 5.การร่าง พ.ร.บ.ยา ต้องอยู่บนหลักวิชาการ ความสอดคล้องระหว่างสากลและสถานการณ์สังคม โดยต้องไม่ปิดกั้นการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“สธ.ต้องเร่งดำเนินการก่อนการคัดค้านจะขยายวงกว้างต่อไป โดยอยากให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ อยู่บนหลักการของวิชาการ ขณะนี้ เครือข่ายวิชาการ โดยคณะเภสัชศาสตร์ 19 สถาบันได้จัดทำข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.อยู่แล้ว ซึ่งประเด็นหลักที่มีความเห็นต่าง ได้แก่ 1.การประเภทกลุ่มยาและ 2.เปิดโอกาสให้วิชาอื่นเข้ามามีบทบาทปรุงยาและจ่ายยา ทำให้จุฬาฯ จำเป็นต้องจัดเวทีให้ความรู้เบื้องต้นให้ตรงกันก่อน ส่วนสถาบันในเครือข่ายยังเตรียมจัดเวทีให้ความรู้ในเร็วๆ นี้ โดยเชื่อว่าข้อเห็นต่างของพ.ร.บ.ยา จะหาทางออกร่วมกันได้” ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร กล่าวและว่า ส่วนการจะคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ทั้งฉบับหรือไม่นั้น ไม่ขอตอบ เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่จุฬาฯ ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขณะเดียว ทราบว่ารัฐมนตรี สธ.ไม่นิ่งนอนใจต่อกรณีดังกล่าว ยังเตรียมจัดประชุมร่วมกันด้วย

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image