ปริศนา 34 ปี “พระพุทธสิหิงค์” ตรัง ล่องหน

พระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมืองตรัง หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยปี พ.ศ.2525 กลายเป็นข่าวครึกโครมขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อ นายดำรง ลีนานุรักษ์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ เปิดประเด็นเรียกร้องให้รื้อฟื้นทวงคืนพระพุทธสิหิงค์ถูกโจรกรรมไปจากวัดหัวถนน ต.นาพละ อ.เมืองตรัง ตั้งแต่ปี 2525 หรือ 34 ปีที่ผ่านมา

ทั้งที่มีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามมาโดยตลอดแต่ไม่สามารถนำกลับมาได้

หากย้อนรอยถึงที่มาของพระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมืองตรัง มีเสียงเล่าขานกันหลายแง่มุม เช่น มีการบันทึกไว้ในหนังสือ แลหลัง เมืองตรัง ใต้ร่มพระบารมี จัดพิมพ์โดยเทศบาลนครตรัง ระบุว่า ในสมัยสุโขทัย ตำนานพระพุทธสิหิงค์ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า พระเจ้าร่วงแห่งกรุงสุโขทัยร่วมกับพระเจ้าสิริธรรม แห่งสิริธรรมนคร ส่งทูตไปขอพระพุทธสิหิงค์จากลังกา และในหลักศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 ระบุว่า สังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชา แสดงว่ามีการติดต่อระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับอินเดีย และลังกา

Advertisement

ขณะที่ตำนานเมืองพัทลุง กล่าวถึงนางเลือดขาวอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากลังกา และสร้างวัดพระศรีสรรเพชญเพื่อประดิษฐานพุทธสิหิงค์ไว้ที่ตรัง อันบ่งชี้ว่าท่าเรือเมืองตรังเป็นเส้นทางผ่านพระพุทธศาสนาเข้าสู่ภาคใต้

มาถึงสมัยปัจจุบันมีการเล่ากันสืบทอดต่อๆ กันมาว่า พระพุทธสิหิงค์ เดิมถูกนำมาประดิษฐานที่วัดพระพุทธสิหิงค์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าวัดหึงค์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านวัดกลาง ต.นาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง ต่อมาวัดถูกปล่อยให้ร้าง ไม่มีพระจำพรรษา

จึงอัญเชิญไปประดิษฐานวัดหัวถนน กระทั่งถูกมารศาสนาขโมยไป

Advertisement

พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีลักษณะหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เนื้อดี หน้าตาอิ่มเอิบ ใบหูเล็ก ขนาดหน้าตักกว้าง 7 นิ้ว บริเวณฐานเจาะรูใส่นอต ขนาด 3 หุน หล่อเป็นเนื้อเดียวกับพระพุทธรูป เหตุที่ทำฐานเจาะรู เนื่องจากพระพุทธสิหิงค์นำมาจากลังกาโดยทางเรือ จึงต้องเจาะรูเพื่อยึดติดกับเรือเอาไว้เพื่อไม่ให้ล้มและเสียหาย

พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตรังถูกขโมยไป เมื่อปี 2525 โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกวัดหัวถนนเล่าว่า มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของ จ.ตรัง ขณะนั้นมอบเงินให้สมภารวัด 10,000 บาท เพื่อนำพระพุทธสิหิงค์ไป จากนั้นข้าราชการคนดังกล่าวนำไปมอบให้กับผู้บังคับบัญชาเพียงหวังความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ

หลังจากพระพุทธสิหิงค์หายไป มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐานหรือไม่ ไม่แน่ชัด และไม่มีการยืนยัน กระทั่งเรื่องเงียบหายไป

พระพุทธสิหิงค์มีความสำคัญต่อการประกอบกิจกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ในทุกๆ ปี เทศบาลนครตรังจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ให้พุทธศาสนิกชนร่วมกันสรงน้ำ ขอพร จากนั้นจะนำไปประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมือง เมื่อพระพุทธสิหิงค์องค์จริงสูญหาย ทางจังหวัดได้หล่อองค์จำลองเหมือนจริงเพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะงานเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์

เวลาผ่านมา 15 ปี ในปี พ.ศ.2540 มี นายชวน หลีกภัย ส.ส.ตรัง และเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ทราบเบาะแสว่าพระพุทธสิหิงค์ถูกขโมยไปอยู่ที่บ้านของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในกรุงเทพฯ

ทำให้กระแสทวงคืนพระพุทธสิหิงค์ของชาวตรัง ข้าราชการ นักการเมืองระดับประเทศ และท้องถิ่น กระหึ่มขึ้นพร้อมๆ กันเพราะมั่นใจว่าจะได้พระคู่บ้านคู่เมืองกลับคืนหลังสูญหายไปนานถึง 15 ปี

ขณะนั้นมีการติดต่อผ่านภรรยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนดังกล่าว ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ทั้งทางเปิดเผยและลับ

แต่เรื่องกลับตาลปัดเมื่อภรรยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หวั่นว่าจะกลายเป็นเกมการเมือง การติดตามทวงคืนพระพุทธสิหิงค์จึงประสบความล้มเหลว

กระทั่งย่างเข้าสู่ปี 2559 นายดำรงและนายสุจิตต์ออกมาจุดประเด็นรื้อฟื้นกรณีการสูญหายของพระพุทธสิหิงค์ ปรากฏว่ามีกระแสตอบรับอย่างดี

โดย นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง มีหนังสือด่วนที่สุดให้อำเภอเมืองตรังและสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดตรังตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน ทั้งข้อมูลระยะเวลาการสูญหายมีการแจ้งความร้องทุกข์หรือไม่ และเคยติดตามสืบหาอย่างไร และรายงานให้ทราบ ภายในวันที่ 25 เมษายน

ขณะที่ พระสมุห์สุรศักดิ์ สุรสักโก เจ้าอาวาสวัดหัวถนน ให้ความเห็นว่า การออกมาเคลื่อนไหวของพุทธศาสนิกชนให้ติดตามพระพุทธสิหิงค์กลับคืนเป็นเรื่องดี ที่ผ่านมาทั้งชาวบ้านและวัดได้ทวงถามมาโดยตลอด อาตมาเห็นว่าพระพุทธสิหิงค์พระคู่บ้านคู่เมืองตรังอยู่ในมือของผู้ครอบครอง เมื่อทางประชาชนชาวตรังขอคืนมานั้นจะได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ครอบครอง พระพุทธสิหิงค์ไม่ได้เป็นสมบัติของใครคนหนึ่ง แต่เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา เมื่อเอาไปแล้วมีจิตสำนึกส่งคืนกลับก็เป็นสิริมงคลกับตัวเอง พระพุทธสิหิงค์เป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์มาก อาตมาก็ขออนุโมทนาหากได้พระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมืองตรัง กลับคืนมาจะมีการสมโภชเฉลิมฉลอง 9 วัน 9 คืน

พระราชวรากร เจ้าคณะจังหวัดตรัง ให้ความเห็นว่าคณะสงฆ์จังหวัดตรังมีความประสงค์ให้พระพุทธสิหิงค์ที่สูญหายกลับคืนมา เนื่องจากเป็นสมบัติของจังหวัดตรัง หรือของชาติ คณะสงฆ์ปรารถนาที่จะให้ได้กลับคืน ถ้าผู้ครอบครองนำพระพุทธสิหิงค์มาคืน คณะสงฆ์ยินดี จะไม่เอาผิด เอาโทษ เอาภัย ใดๆ จะได้เป็นมิ่งขวัญของคณะสงฆ์ เป็นสิริมงคลต่อจังหวัด หากฝ่ายบ้านเมืองมีความจริงจังจะสืบค้น ค้นหา คงไม่ยากที่จะได้พระพุทธสิหิงค์กลับคืนมา

ขณะที่ นางเอื้อน คำวร อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.นาพละ อ.เมือง จ.ตรัง บอกว่า เท่าที่ทราบพระพุทธสิหิงค์สูญหายไปจากวัดหัวถนน เมื่อปี พ.ศ.2525 เมื่อทราบข่าวว่าจะทวงคืนพระพุทธสิหิงค์อีกครั้งมีความยินดี และเห็นด้วยเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งจะนุ่งขาว ห่มขาว สวดมนต์ในวันพระ ด้วยการติดต่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านมารวมตัวร่วมกันสวดมนต์ เพื่อขอให้พระพุทธสิหิงค์กลับคืนสู่จังหวัดตรัง

นายปรีชา เหมือนเดช อดีตกำนันตำบลนาพละ เล่าว่า ตำนานพระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง เล่าต่อๆ กันมามีหลายกระแส ตามตำนานเล่าว่า นางเลือดขาวมาสร้างไว้ บ้างก็ว่าเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำมาจากคลองนางน้อย หรือแม้กระทั่งเล่ากันว่า ได้มาจากเมืองลังกา แต่จากเอกสารรายงานของกำจร เกตุมาลี เสนอต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทรวิโรฒ สงขลา พ.ศ.2521 ระบุว่า พระพุทธสิหิงค์ถูกอัญเชิญมาจากเมืองลังกาในสมัยสุโขทัย โดยมาทางเรือขึ้นบกที่เมืองตรัง และแวะพักชั่วคราวที่นครศรีธรรมราช ก่อนเดินทางต่อไปสุโขทัย แต่เรืออับปางลงในน่านน้ำเมืองตรังมีผู้พบเห็นจึงนำมาประดิษฐานที่วัดกลาง

“ต่อมาวัดกลางเกิดร้างไม่มีพระจำพรรษา ชาวบ้านจึงสร้างวัดขึ้นใหม่ในที่ใกล้ๆ แล้วอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐาน เมื่อถึงสมัยเมืองตรังตั้งอยู่ที่ควนธานี พระยาตรังควิษยาณุรักษ์พิทักษ์รัฐเสมา (พ.ศ.2396) เจ้าเมืองตรัง ต้นตระกูลวิทยารัฐซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ที่วัดหัวถนน ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานที่วัดหัวถนน พระพุทธสิหิงค์จึงอยู่ที่วัดหัวถนนตั้งแต่นั้นมา กระทั่งสูญหาย เมื่อปี พ.ศ.2525” นายปรีชาระบุ

ณ วันนี้ความหวังของประชาชนชาวจังหวัดตรัง ที่จะได้พระพุทธสิหิงค์พระคู่บ้านคู่เมืองตรังกลับคืนสู่สายใย ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ บูชา ยึดเหนี่ยวจิตใจ ยังเป็นความหวังที่เลื่อนลอย

แต่เชื่อว่าหากประชาชนชาวตรังมีจิตใจที่แน่วแน่ เชื่อมั่น และศรัทธาองค์พระพุทธสิหิงค์ด้วยใจอันบริสุทธิ์ การร่วมจิต ร่วมใจ สวดมนต์ ภาวนา ดลจิตดลใจ ให้ผู้ที่ครอบครองพระพุทธสิหิงค์ ส่งมอบให้กับชาวตรัง เพื่อจะได้เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนสืบไปน่าจะบังเกิดผล!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image