อย.เตือนอย่าเชื่อ “กัญชา” รักษามะเร็ง เหตุไม่มีงานวิจัยรองรับ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกระแสข่าวการใช้กัญชารักษาโรคมะเร็ง ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ขอชี้แจงว่า กัญชาจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ปัจจุบันยังไม่มียาจากกัญชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาแต่อย่างใด เนื่องจากยัง ไม่มีงานวิจัย หรือเอกสารทางวิชาการยืนยันว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งได้

ภก.สมชาย กล่าวว่า อย.ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของกัญชาและสารสกัดจากกัญชาในการนำมาใช้ในการบำบัดรักษาทางการแพทย์ จึงได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ เปิดให้สามารถนำกัญชารวมถึงสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรคได้ ตามคำสั่งของผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบการวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย หรือผู้ประกอบการวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยระหว่างที่ อย.พิจารณาแก้ไข สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้จัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีการรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลายฉบับบรรจุไว้เป็นร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับเดียว อย.จึงได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ที่มีการแก้ไขดังกล่าวให้ ป.ป.ส.เพื่อประกอบการจัดทำร่างประมวลกฎหมาย ซึ่งร่างประมวลกฎหมายนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบกับหลักการของร่างฯ เมื่อวันที่ 12 เมษายน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

“ปัจจุบันมีการใช้กัญชาในทางการแพทย์ของต่างประเทศ โดยมีข้อบ่งใช้ของยา ได้แก่ บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ รักษาภาวะปวดเกร็ง ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง รักษาอาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ในการรักษาโรค ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย เช่น การศึกษาวิจัยในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ เป็นต้น และในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกายังไม่มีการรับรองให้มีการนำพืชกัญชามาใช้ ในการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในคนเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัย” ภก.สมชาย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image