เสวนาชี้ ปีหน้าไทย ‘ปธ.อาเซียน’ จังหวะเหมาะกลับเป็นผู้นำ ยึดจุดแข็งคือความกำกวม

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ร่วมกับสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย จัดเสวนา “สิ่งท้าทายอาเซียน : ปัจจุบันและอีก 5 ปีข้างหน้า” ดำเนินรายการโดย นายอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์แม่โขงศึกษา

 

เออีซีได้แค่ธงกับสวัสดี ต้องไปให้ถึงเรื่องปากท้อง

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์
ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา

อาเซียนตั้งมาเป็นปีที่ 51 จากเรื่องความมั่นคง จนปี 2535 เกิดกระแสทั่วโลกในการรวมภูมิภาค เกิดเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า จากนั้นแผนงานอาเซียนชัดเจนว่าต้องทำอะไรต่อเนื่องจนปี 2015 ที่มีเออีซี ไม่ได้พูดเรื่องการค้าอย่างเดียว แต่พูดเรื่องการค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายทุนและแรงงาน เป็นตลาดร่วม common market แต่ยังไม่ถึงขั้นอียู อย่างไรก็เป็นเออีซีแบบอาเซียนทำกันนิดๆ หน่อยๆ

Advertisement

จากนั้นเราพูดถึงเป้าหมาย 2025 ที่มีวิสัยทัศน์ แต่ถูกวิจารณ์ว่าไม่ชัดเจน เรามีความแตกต่างกันมากในอาเซียน ทะเลาะกันเล็กน้อยแต่ไม่ทะเลาะกันจริงจัง เรามีศาสนา ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์หลายเรื่องต่างกันแต่อยู่ร่วมกันได้

ล่าสุดประเทศในอาเซียนถูกจัดกลุ่มโดยระดับรายได้ กลุ่มร่ำรวยคือ บรูไน สิงคโปร์ ไทยอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง และกลุุ่มรายได้น้อยคือ พม่า ลาว กัมพูชา ลาวจากประเทศยากจนที่สุดก็ไม่ใช่แล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่ากัมพูชา

โครงสร้างอายุมีสองประเทศเข้าสู่ประชากรสูงวัยขั้นสมบูรณ์คือ สิงคโปร์และไทย คนในภูมิภาคอาเซียนต่างกันมาก เมื่อความต้องการในการพัฒนาประเทศต่างกันสิ้นเชิง นี่คือสิ่งท้าทายอาเซียน กับเป้าหมาย 2025 ที่เราบอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เมื่อระดับประเทศต่างกันมากบางประเทศยังสร้างโครงสร้างพื้นฐานอยู่เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ขณะที่ไทย 3-4 ปีที่ผ่านมา พูดเรื่อง 4.0 โลกดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล แต่ประเทศไทยคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตปี 2016 อยู่ที่ 39% มาจากโครงสร้างช่วงวัยอายุคนด้วย

Advertisement

ความท้าทายที่เกิดขึ้นมีการประเมินว่า ใน 4-5 ปีนี้ประเทศที่มาทีหลัง น่าจะโตมากสุด เช่น พม่ามีอัตราเติบโตเฉลี่ย 7% ไทยอยู่ประมาณ 4% สิงคโปร์ บรูไน จะอยู่ที่ราว 3%

รัฐบาลชุดนี้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจมากใน 2-3 ปีนี้ แต่ไม่รู้ปีนี้จะดึงได้ขนาดไหน ขณะนี้ความชัดเจนมากขึ้น แต่ไม่อาจทำนายได้ว่าเออีซีจะช่วยดึงขึ้นมาได้หรือเปล่า

ตอนครบรอบ 50 ปีอาเซียน คุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ พูดไว้ว่า เราเป็นกลุ่มประเทศมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากเพราะเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ด้านหนึ่งเรามีความมุ่งมั่น แต่หลังปี 2558 เออีซีได้มาแค่เรื่องธงกับสวัสดี เพราะเออีซียังไม่เคยเป็นนโยบายหาเสียงของประเทศไหนเลย เรื่องอาเซียนยังไม่ไปถึงเรื่องปากท้อง นี่คือความท้าทาย

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การพยายามช่วยเหลือกันในอาเซียนทำให้ภูมิภาคนี้น่าสนใจ รวมกลุ่มเป็นตลาดใหญ่ที่ทำให้คนอยากมาลงทุน เราจึงมี “อาเซียนพลัส” การรวมกลุ่มในอาเซียนนับแต่ปี 2535 จะเห็นว่า การค้าภายในอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไทยกับเพื่อนบ้าน และการค้าข้ามชายแดนที่กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

ความแตกต่างในกฎระเบียบแต่ละประเทศทำให้การค้าข้ามแดนบางอย่างลำบากมาก


ปัญหาใหญ่ ‘ไม่มีผู้นำ’ -หนุนแก้ปัญหาตาม ‘วิถีอาเซียน’

ผศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม
อาจารย์หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาฯ

สิ่งท้าทายภายนอกของอาเซียน เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศ ระเบียบในภูมิภาคกำลังก่อตัว สิ่งที่ตามมาคือความไม่แน่นอน จึงเป็นสิ่งท้าทายสำคัญ ประเด็นใหญ่คือบทบาทของมหาอำนาจไม่ว่าในโลกหรือภูมิภาคนี้คือจีนและอเมริกาที่มีท่าทีเปลี่ยนไป จีนก็เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อเมริกาจากที่โอบามาจะมาปักหมุดในเอเชีย แต่ทรัมป์ถอนหมุดไปแล้ว เกิดสงครามการค้ากับจีนก็เกิดความไม่แน่นอน

ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นจากทะเลจีนใต้ที่เรื้อรังมานาน อาเซียนก็ถูกมองว่าทำอะไรไม่ได้ ปีที่แล้วก็มีปัญหาโรฮีนจาในรัฐยะไข่ เมียนมา อาเซียนก็ถูกมองว่าไม่ทำอะไร

สถานการณ์ภายนอกเดี๋ยวร้อนแล้วก็เย็น แต่ที่น่าห่วงคือสถานการณ์ในอาเซียน คือความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของอาเซียน จากความหลากหลายของอาเซียน และหนังสือของ ศ.กิชอร์ มาห์บูบานี ผู้เขียนหนังสือ “The ASEAN Miracle : A Catalyst for Peace” ซึ่งผมเป็นผู้แปล บอกว่าอาเซียนมีปัญหาคือขาดภาวะผู้นำ จากเดิมที่มีซูฮาร์โตที่นำอยู่ข้างหลัง อาเซียนจึงเกาะกลุ่มอยู่ได้ในการสนับสนุนของอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันอินโดนีเซียก็ต่างไป มีท่าทีกำกวมต่ออาเซียนในด้านเศรษฐกิจ เขาเป็นตลาดใหญ่จากประชากรที่มากจึงไม่เห็นความจำเป็นในการรวมตลาด โจโกวีก็เบื่อจะมานั่งฟังสุนทรพจน์ผู้นำอาเซียน และกิชอร์เห็นว่าประเทศไทยมัวแต่หมกมุ่นกับการเมือง ไม่มีเวลาดูเรื่องต่างประเทศ ไม่มีประเทศไหนเป็นผู้นำอาเซียนได้เลย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อาเซียนเผชิญความท้าทายอย่างนี้ สื่อตะวันตกไม่เคยมองอาเซียนในทางที่ดี แต่ผมยังมีความหวังกับอาเซียน ปัญหาทะเลจีนใต้และโรฮีนจา คนมองว่าที่แก้ไม่ได้เป็นเพราะวิถีอาเซียน จากการไม่แทรกแซงภายในและเรื่องฉันทามติ แต่ผมคิดว่าถ้าไม่มีวิถีอาเซียนคงแตกกันไปนานแล้ว ไม่มีใครอยากให้ประเทศอื่นมาแทรกแซงกิจการภายในและเรื่องฉันทามติ ในอียูก็ไม่สามารถบังคับให้ประเทศที่ไม่เห็นด้วยทำตามได้

ปัญหาทะเลจีนใต้ ไม่ใช่ว่าอาเซียนไม่ทำอะไรแต่ทำตาม วิถีอาเซียนค่อยเป็นค่อยไปจนมีร่างเอกสารเจรจาเรื่องทะเลจีนใต้ ไม่เผชิญหน้าค่อยๆ หาทางออก นั่นคือวิถีอาเซียน

เรื่องโรฮีนจา อาเซียนถูกตำหนิ แต่พม่าอยู่โดดเดี่ยวมาตั้งนาน ถ้าเรากดดันเขาก็กลับไปอยู่โดดเดี่ยว ไม่ใช่ว่าวิกฤตโรฮีนจาไม่สำคัญ แต่พม่าอยู่ในสงครามการเมืองตลอดนับแต่เอกราชปี 1948 ใครจะไปแทรกแซงเขานั้นเรื่องใหญ่มากอย่างที่เห็นตอนพายุนากีสกว่าจะเข้าไปช่วยได้

ปัญหาโรฮีนจาถ้าจะให้ใครจัดการต้องเป็นสหประชาชาติ ที่มีสำนักงานผู้ลี้ภัยมีเครื่องมือต่างๆ แต่ตอนนี้เอาแต่พูด ถ้าสหประชาชาติแก้ไม่ได้อย่าเพิ่งด่าอาเซียน

เราหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้กับปัญหาโรฮีนจาที่เกิดในภูมิภาคนี้ ความไว้ใจเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินการกับพม่า เมื่อเขาก็มีปัญหาเยอะอยู่แล้ว ถึงไทยยังคิดไม่ออกแต่ต้องเตรียมพร้อมแล้วว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไรในฐานะประธานอาเซียน ผมเชื่อใน “ความไม่เป็นทางการ” ในวิถีอาเซียนที่จะแก้ปัญหา โดยอาจมีประเทศมุสลิมอื่นๆ เป็นผู้เดินเรื่องและไทยเป็นผู้อำนวยความสะดวก

ที่ผ่านมา ประชาคมระหว่างประเทศใช้วิธีโดดเดี่ยวกดดัน ถ้าจะเอาพม่าขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศจะยิ่งหนัก อาเซียนต้องเข้าไปสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับรัฐบาลพม่าก่อน


บทบาท ‘ปธ.อาเซียน’ จังหวะไทยกลับเป็นผู้นำ

นายสุทธิชัย หยุ่น
อดีตผู้ก่อตั้งเนชั่นกรุ๊ป

ประเทศไทยที่จะเป็นประธานอาเซียนปีหน้าจะรับความท้าทาย ตอนที่มีประชุมทะเลาะกันระหว่างสิงคโปร์-มาเลเซียจะฆ่ากันอยู่แล้ว คุณถนัด คอมันตร์ ก็เชิญมาประชุมที่บางแสน เตรียมห้องเตรียมอาหารให้ แต่ไม่ให้กลับถ้าตกลงกันไม่ได้ เป็นความใจกว้างของไทย

วิถีอาเซียนก็คือวิถีไทย การก่อตั้งอาเซียนจริงๆ แล้วไทยก็คือผู้นำ แต่เราสูญเสียความเป็นผู้นำอาเซียนสิบกว่าปีแล้ว ปีหน้าจะเป็นจุดพลิกผันมากสำหรับความเป็นผู้นำอาเซียนของไทย และจะเป็นจุดตัดสินว่าอาเซียนจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 51-52 ด้วยความเป็นภูมิภาคที่เข้มแข็งที่สุดในโลก

อาเซียนเกิดจากเป้าหมายการต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่แปลงร่างมาจนถึงปีนี้ กลายเป็นเด็กที่โตมารูปร่างหน้าตาใช้ได้อ่อนน้อม ฉลาดระดับหนึ่ง ไม่เกเร อาจขึ้นเวทีไปชกกับใครไม่ได้ แต่คุณสมบัติของอาเซียนในวันนี้น่าคุยด้วย ยิ้มแย้ม พร้อมฟังคนที่ไม่เห็นด้วย ความแข็งแกร่งของอาเซียนวันนี้คือความกำกวม และจงกำกวมต่อไป เพราะโลกการเมืองวันนี้ถ้ามีจุดยืนแข็งแกร่งไม่ยอมต่อรองเจรจาจะอยู่ยาก กระทั่งจีน รัสเซีย ซึ่งเคยแสดงจุดยืนแข็งแกร่ง วันนี้เป็นประเทศที่พร้อมเจรจาทุกเมื่อ ใครจะกล้าคิดว่าคนที่มีจุดยืนแข็งแกร่งอย่าง คิมจองอึน จะพร้อมเจอสหรัฐ

อาเซียนผ่านการพิสูจน์หนักมาก แต่ปรับตัวตามสถานการณ์ พอสงครามเย็นก็ประกาศจุดยืนไม่อยู่ข้างอเมริกาหรือจีน ความกำกวมนี้ช่วยเหลือมาก เราประกาศเขตสันติภาพ เป็นกลาง และไม่มีนิวเคลียร์ แม้อเมริกาเอาหัวรบนิวเคลียร์เข้ามาเราก็ทำเป็นอ้ำอึ้ง ทุกครั้งที่มีการประชุมก็มีจุดยืนกลางๆ ที่สมาชิกอาเซียนพอกล้อมแกล้มได้ ทำให้เรามองได้ว่าอาเซียนจะก้าวต่อไปอย่างไร

ความยืดหยุ่นของอาเซียนคือ ความยั่งยืน เราเรียกว่า “พลังดึ๋งดั๋ง” อัดแล้วเด้งกลับมา เวลาประชุมเราก็ไม่เชิงว่าต้องมีจุดยืนเข้มแข็ง

ไทยในฐานะประธานปีหน้าต้องลงไปทำอย่างจริงจังทั้งระดับนโยบาย นักวิชาการ สื่อ และประชาชน อาเซียนจะมีความหมายเมื่อคนทั้งสิบประเทศรู้สึกมีอะไรเหมือนกัน ยุโรปมีคำว่า “ยูโรเปียน” อาเซียนจะมีคำว่า “ชาวอาเซียน” ได้ไหม เพราะเรายังไม่รู้สึกได้ผลประโยชน์ร่วมในการเป็นชาวอาเซียน ซึ่งอาจต้องเริ่มที่ไทย ต้องสร้างให้คนไทยคิดว่าเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอาเซียน แต่เป็นแกนนำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงของอาเซียน

เนื่องจากความขัดแย้งไทยมีมายาวนานกว่าสิบปี และหายไปจากภูมิภาค เราต้องถือเป็นภารกิจหลักในการประสานเดินหน้าต่อเรื่องทะเลจีนใต้ เนื่องจากไทยไม่ใช่คู่กรณี จีนก็ฟัง แต่มีเงื่อนไขของตัวเอง และตอนนี้จีนฟังมากขึ้น เพราะรู้ตัวว่าไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ตัวเองเป็นเหมือนเมื่อก่อน ถ้าเราเป็นประธานต้องทำเรื่องนี้
เรื่องโรฮีนจา ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่จัดการไม่ได้ ผมเพิ่งสัมภาษณ์ท่านนายกฯมหาธีร์บอกว่า แม้เราไม่แทรกแซงภายใน แต่มีคุณค่าที่เราเห็นตรงกันก่อนจะบอกว่าไม่แทรกแซงกัน ถ้าเพื่อนเราทำอะไรผิดสิทธิมนุษยชน อื้อฉาวต่ำกว่ามาตรฐาน เราควรพูดได้ ผมคิดว่ามหาธีร์จะเดินเรื่องนี้เมื่อมาเลเซียต้องการเป็นผู้ชื่อว่าสนใจปัญหาเพื่อนบ้านอาเซียน ต่อให้อันวาร์ อิบราฮิม ขึ้นมาก็จะเดินเรื่องนี้ต่อ ไทยเองไม่ใช่ว่าไม่มีแนวคิดเรื่องนี้แต่พยายามหลีกเลี่ยง แต่ต้องเดินหน้าให้เห็นว่าอย่างน้อยอาเซียนไม่ใช่ว่าไม่สามารถตกลงกันได้

ออง ซาน ซูจี ตอนนี้กลืนเลือด ไม่ใช่ว่าไม่อยากเป็นวีรสตรีต่อ แต่เธอรู้สึกว่าไม่มีใครฟังเธอเลย เธอคิดว่าเป็นเรื่องตะวันตกมากดดัน ทั้งที่ในอาเซียนก็ไม่เห็นตรงกัน กลายเป็นว่าเรื่องนี้จะมีแค่คนสู้เพื่อโรฮีนจากับคนที่มองว่าโรฮีนจาไม่เป็นปัญหา นี่เป็นเรื่องที่ไทยควรมองหาวิถีทาง เราไม่ใช่คู่กรณีน่าจะปรึกษาหารือเพื่อหาทางออก

และผมเห็นว่า สงครามการค้าสหรัฐกับจีนนั้นเป็นภัยคุกคามอาเซียนด้วย อาเซียนควรมีจุดยืนร่วมในบางประเด็น นโยบายวันเบลต์วันโรดของจีน ผลประโยชน์แต่ละประเทศได้ต่างกันต้องมาแลกเปลี่ยนกัน ต้องไม่มองข้ามข้อด้อย อุปสรรค และอิทธิพลของจีนที่อาจมีมากเกินกว่าที่เราอยากเห็น

ส่วนการเปิดเขตการค้าเสรีใหม่ “อาร์เซป” ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ บอกว่า สิ่งนี้เกิดจากอาเซียน ไม่มีจังหวะไหนที่ไทยจะกลับมาฟื้นบทบาทผู้นำอาเซียนเท่าตอนนี้ ถ้าหลังเลือกตั้งจะตั้งความหวังได้หรือไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเข้าใจบทบาทไทยในฐานะผู้ขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ๆ เหล่านี้ในอาเซียนได้ ถ้าเราสร้างพลังในอาเซียนให้เป็นอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจ

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนปลายปีหน้า นอกจากการกลบภาพเก่าว่าเราจะจัดการประชุมได้เรียบร้อย ควรจะมียุทธศาสตร์เชิงรุกว่า ไทยโดดเด่นในการเป็นประธาน ส่งต่อประเทศอื่นว่าอาเซียนต้องการเห็นผลงานชัดเจนที่มีความคืบหน้า นำไปสู่แก้ปัญหาระยะยาว

ผมอยากเห็นไทยขึ้นมาเป็นผู้นำอาเซียนทางการเมืองได้ ไม่ห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบพัทยา เพราะเราน่าจะมีบทเรียน ไม่มีเหตุผลที่จะทำผิดซ้ำสอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image