นักวิชาการชี้แผ่นดินไหวในไทยไม่ทำให้เขื่อนแตก ห่วงบ้านอาคารเก่ายังไร้กฎหมายควบคุม

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่กรมทรัพยากรธรณี(ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จัดงานแถลงข่าวเจาะลึกประเด็นแผ่นดินไหวต่างแดน…สะเทือนถึงไทย? โดยนายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีทธ. กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นและเอกวาดอร์ อาจทำให้เกิดความวิตกว่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยหรือไม่ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีผลงานวิจัยด้านแผ่นดินไหวมาร่วมให้ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กล่าวว่า ประเทศไทยมี 14 กลุ่มรอยเลื่อนพาดผ่าน 21 จังหวัด แต่ที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังคือรอยเลื่อนสะกาย ประเทศพม่า คาดการณ์จะเกิดในระยะ 50 ปี ขนาด 7.0 ริกเตอร์ ที่สำคัญรอยเลื่อนสะกายได้พาดผ่านเมืองสำคัญของพม่าหลายเมือง อาทิ มัณฑะเลย์ เนปิดอร์ เป็นต้น ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้นี้พม่าจะประสบเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่ ซึ่งความรุนแรงจะส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงภาคเหนือในประเทศไทยรวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วย อาคารสูงน่าจะรับรู้ได้ถึงความสั่นไหว ทั้งนี้หากเทียบระยะการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคตของญี่ปุ่น พม่า และไทย พบว่า ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมากในการเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 8-9 ริกเตอร์ ในระยะ 10 ปี ขณะที่พม่าจะเกิดความรุนแรง 7-8 ริกเตอร์ในระยะ 100 ปี รวมถึงในระยะ 50 ปีกับรอยเลื่อนสะกาย ขณะที่ไทยซึ่งมีรอยเลื่อนเช่นกัน แต่มีความเสี่ยงในระดับปานกลาง ในการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ ในระยะเวลา 1,000 ปี

ผศ.ภาสกร ปนานนท์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศเอกวาดอร์นั้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเหนือความคาดหมาย เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ซึ่งจากการศึกษาพบว่าทั้ง 2 เหตุการณ์ไม่ได้สร้างผลกระทบถึงประเทศไทย เนื่องจากอยู่ในระยะที่ไกลมาก และความรุนแรงก็ไม่มาก เพียง 7 ริกเตอร์เท่านั้น

ด้าน รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หลายคนกังวลว่าหากเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยจะทำให้เขื่อนแตกจริงหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปเขื่อนจะเสียหายจนถึงกับพังได้ 3 รูปแบบ คือ 1.น้ำเยอะมากจนล้นสันเขื่อนทำให้เขื่อนทรุดตัว 2.การเกิดน้ำรั่วซึมและกัดเซาะ และ 3.การดินถล่มใส่เขื่อน ขณะที่ในประเทศไทยมีเขื่อนประมาณ 5,000 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นเขื่อนขนาดเล็กราว 4,000 แห่ง โดยในการก่อสร้างเขื่อน ก่อนก่อสร้างจะศึกษาอยู่แล้วว่าตั้งบนรอยเลื่อนที่มีพลังหรือไม่ เพื่อออกแบบให้รองรับการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคตไม่ให้เกิดความเสียหายจนเกิดพิบัติภัย เนื่องจากบางแห่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้สร้างบนรอยเลื่อนได้ และจากการตรวจสอบโครงสร้างเขื่อนต่างๆ พบว่ามีการออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวตามมาตรฐานอยู่แล้ว จึงไม่น่าห่วง แต่ที่น่าห่วงคือบ้านเรือนและอาคารที่ไม่ได้ควบคุมก่อสร้าง ซึ่งมีโอกาสเสียหายกว่าเขื่อนเยอะ เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนที่ใช้ในการออกแบบเขื่อนสูงกว่าแรงที่ใช้ออกแบบอาคารมาก ดังนั้นจึงไม่ควรสร้างบ้านดินในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว อาทิ จ.กาญจนบุรี แนะนำให้สร้างบ้านไม้ ซึ่งมีน้ำหนักเบา

Advertisement

“จ.กาญจนบุรีมีเขื่อน 2 เแห่ง คือเขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งพบว่ามีรอยเลื่อนใกล้เคียงเต็มไปหมด แต่เขื่อนได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวตามมาตรฐาน ซึ่งคาดการณ์ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 7 ริกเตอร์ จะทำให้เขื่อนเกิดการทรุดตัว 80 เซนติเมตร ซึ่งไม่กระทบโครงสร้างและสร้างความเสียหายมากนัก เนื่องจากมีการออกแบบเขื่อนเพื่อรองรับการทรุดตัวไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้กำหนดให้มีการประเมินแผ่นดินไหวจากการสร้างอ่างเก็บน้ำในกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ว่าเกิดแผ่นดินไหวจะเป็นอย่างไร ใครได้รับผลกระทบบ้าง ส่วนเขื่อนเก่าที่ก่อสร้างไปแล้ว ก็ให้หน่วยงานที่ดูแลเขื่อนทำการศึกษาด้วยเช่นกันและส่งแผนให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อจัดทำแผนอพยพเมื่อเกิดเหตุพิบัติ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสำรวจรอยเลื่อนมีพลังและมีโอกาสจะมีพลังที่จะกระทบกับเมืองใหญ่เป็นประจำ รวมทั้งการก่อสร้างอาคารให้แข็งแรงตามแรงแผ่นดินไหวในพื้นที่นั้นๆ และควรออกกฎหมายควบคุมอาคารเก่า ด้วยการให้เงินอุดหนุนแก่เจ้าของบ้านบางส่วนเพื่อนำมาเสริมความปลอดภัย รวมทั้งมีกฎหมายกำหนดการทำประกันภัยกับอาคารบางประเภท โดยเฉพาะอาคารสาธารณะและอาคารราชการ” รศ.สุทธิศักดิ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image