หมอจุฬาฯ แจงหลังข่าวสะพัดปกปิดข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า หวั่นสังคมเข้าใจผิด

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่าภาครัฐปกปิดข้อมูลผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า ว่า การใช้คำว่าปกปิดอาจจะไม่เหมาะสมนัก กรณีที่ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากในการยืนยันว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าต้องมีการตรวจยืนยันจากการตรวจสารพันธุกรรมจากสิ่งคัดหลั่ง และปมรากผมก่อนเสียชีวิต ซึ่งตรวจครั้งแรกอาจให้ผลลบ เพราะไวรัสไม่ได้ออกมาตลอดเวลา เลยทำให้เข้าใจว่าไม่เป็นและประกอบกับเมื่อเสียชีวิตแล้วการเจาะเก็บเนื้อเยื่อสมองผ่านลูกตาจะมีความลำบาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่ยินยอม หรือบุคลากรที่เก็บตัวอย่างยังไม่มีความชำนาญพอ ดังนั้นตัวเลขที่มีการรายงานจึงอาจจะน้อยกว่าความเป็นจริง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม โรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้มีเพียงอาการคลุ้มคลั่งอย่างเดียว แต่มีแบบอัมพาต แขนขาอ่อนแรง เหมือนเส้นประสาทอักเสบทั่วไป หรือเกิดร่วมกับไวรัสอื่นในตระกูลฟลาวิไวรัสหรือไม่มีอาการพิเศษอื่นใด เหมือนสมองอักเสบทั่วไป สองแบบหลัง ไม่มีกลัวน้ำ กลัวลม น้ำลายไม่มาก ดังนั้น เมื่อคนไข้เสียชีวิต ควรตรวจสมองและอวัยวะอื่นๆ เป็นมาตรฐานของการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าลุกลามมากขึ้นแล้วยังสามารถป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้ออื่นๆ อีกเป็นร้อยชนิดด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image