สุดอึ้ง! หญิงไทยทำแท้ง 2 แสนคน/ปี เอ็นจีโอเสนอปลดล็อคกฎหมายเน้นมิติสุขภาพ

ภาพประกอบ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่อาคารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวในการเสวนา “Let’s Talk Abortion” เนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์สากล 28 กันยายนของทุกปี ว่า ปัจจุบันยังมีผู้หญิงที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำแท้งอยู่ทั่วทุกมุมโลก ทั้งที่ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ หากให้ทางเลือกผู้หญิงในการเข้าบริการทำแท้งที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย ขณะที่ประเทศไทยแม้กฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ใน 3 เงื่อนไขคือ 1.ท้องที่อันตรายต่อสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ 2.ท้องจากการถูกหลอกลวงทางเพศในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และ3.ตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการรุนแรง แต่พบปัญหาในเชิงปฏิบัติว่า ตำรวจบางส่วนก็ยังเข้าใจผิดทำแท้งทุกกรณีผิดกฎหมาย ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ก็ปฏิเสธ โดยอ้างเหตุผลมโนธรรม ทำให้ผู้หญิงต้องไปทำแท้งเถื่อน และยังนำมาซึ่งความบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเครือข่ายมองว่าเมื่อกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเสนอให้ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งในปัจจุบันทั้งหมด ได้แก่ ป.อาญา มาตรา 301-305 แล้วยกให้การทำแท้งเป็นข้อบังคับทางสุขภาพในความดูแลของกระทรวงสาธารณะสุข

รศ.กฤตยากล่าวอีกว่า แวดวงวิชาการยังได้ประมาณการตัวเลขผู้หญิงไทยทำแท้งขั้นต่ำ 200,000 คนต่อปี ต่อคนยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำแท้งประมาณ 20,000 บาท รวมเป็นมูลค่า 400 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ที่ผ่านมากรมอนามัย สธ.จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (Referral System for Safe Abortion: RSA) โดยรวบรวมแพทย์และทีมสหวิชาชีพมาคอยให้คำปรึกษาและบริการดังกล่าว ล่าสุดยังได้เปิดตัวเว็บไซต์ rsathai.org เพื่อให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมเข้าไปศึกษาข้อมูลเครือข่ายสถานบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และติดต่อขอความช่วยเหลือได้

ด้านนายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้รับผิดชอบสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 กล่าวว่า จากการให้บริการพบแนวโน้มคนโทรมาขอคำปรึกษากรณีท้องไม่พร้อมมากขึ้น อย่างรอบปีงบประมาณ 2560 มีจำนวน 19,432 สาย ขณะที่รอบปีงบประมาณ 2561 ข้อมูลถึงเดือนมิถุนายน 2561 มีจำนวน 18,882 สายแล้ว และน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อครบปีงบประมาณ เช่นเดียวกับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีโทรมาคำปรึกษาท้องไม่พร้อมเพิ่ม ทั้งนี้ การท้องไม่พร้อมและต้องการทำแท้ง เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย อย่างเคสหนึ่งที่มาปรึกษาพบว่าเป็นคุณครูผู้หญิงอายุ 51 ปี มีลูกอยู่ระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ประจำเดือนก็เริ่มมาห่างๆแล้ว แต่ปรากฏเกิดตั้งครรภ์กับสามีซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่อีกไม่กี่ปีก็เกษียณ คุณครูคนนี้กลุ้มใจมากกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อมนี้ ทั้งยอมรับว่าเพิ่งเข้าใจความรู้สึกที่ต้องทำแท้งว่าเป็นอย่างไร จากที่เคยต่อว่านักเรียนหญิงอย่างไม่เข้าใจ ซึ่งสุดท้ายเราก็ประสานงานช่วยเหลือจนสำเร็จ ตรงนี้จะบอกว่าผู้หญิงควรมีทางเลือกในการจัดการปัญหานี้ สังคมก็ควรเปลี่ยนวิธีคิดว่านี่คือปัญหาสุขภาพ พวกเธอต้องการได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ กฎหมายเองก็ต้องเอื้อให้แพทย์และผู้หญิงได้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม
นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้รับผิดชอบสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image