รวม 4 สวนเป็น ‘อุทยานจตุจักร’ คนกรุงมีพื้นที่สีเขียวหายใจเพิ่ม 6.71 ตร.ม./คน

พระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปี 2544 ให้รวม 3 สวน คือ สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เป็นพื้นที่เดียวกัน ทั้ง 3 สวนรัฐบาลได้จัดสร้างขึ้นและน้อมเกล้าฯถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น ต่อมาปี 2547 ในหลวงรัชกาลที่ 9 กลับพระราชทานพื้นที่ทั้ง 3 สวนคืนให้อยู่ในความดูแลของรัฐบาล พร้อมพระราชทานนามว่า “อุทยานสวนจตุจักร” ภายหลังมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รวมสวนเข้าด้วยกัน เพื่อน้อมเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2546

แม้ที่ผ่านมา กทม.พยายามรวมสวนเข้าด้วยกัน ดันติดขัดอุปสรรค ทั้งด้านงบประมาณ รูปแบบทางเชื่อมระหว่างสวนที่ยังตกลงกันไม่ได้ ทำให้โครงการล่าช้า กระทั่งชุดบริหารชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายสางปัญหาเรื้อรัง พร้อมนำโครงการอุทยานจตุจักรกลับมาพิจารณาอีกครั้ง จนมีข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ให้ฟื้นโครงการอ้างอิงตามมติ ครม.เดิม

แน่นอนว่า…ข้อดีของชุดบริหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น งานย่อมก้าวหน้าและราบรื่น เพราะไม่แคร์ว่าจะเสียคะแนนเสียงกับกลุ่มประชาชนที่คัดค้าน

Advertisement

ส่วนความคืบหน้าอุทยานจตุจักรวันนี้ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. คุมงานด้านโยธาและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า งานรวม 3 สวนเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย งานปรับปรุงทางเชื่อม โดย 1.ยกระดับผิวจราจรบนถนนกำแพงเพชร 3 ให้เสมอทางเท้าทั้งสองฝั่ง เป็นทางเชื่อมหลักเชื่อมระหว่าง สวนรถไฟกับสวนจตุจักร ปัจจุบันทำได้ร้อยละ 90 เช่นเดียวกับ 2.งานยกระดับผิวจราจร ระหว่างสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กับสวนจตุจักร งานคืบหน้าร้อยละ 90 และ 3.ปรับปรุงสะพานข้ามคูน้ำให้สวยงามและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณเชิงสะพานทั้ง 2 ฝั่งให้สวยงามเชื่อมสวนสวนเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯกับสวนรถไฟ ตอนนี้เสร็จแล้วร้อยละ 100 พร้อมเปิดให้บริการประชาชนต้นเดือนตุลาคมนี้

Advertisement

นอกจากรวมพื้นที่ 3 สวน ได้แก่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ 196 ไร่, สวนรถไฟ 375 ไร่ และสวนจตุจักร 155 ไร่ ให้เป็นอุทยานจตุจักร ภายใต้พื้นที่รวม 727 ไร่แล้ว ระต่อไป กทม.ยังมีแนวคิดรวมพื้นที่สวนสมเด็จย่า 84 พรรษา ให้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานด้วย โดยใช้สะพานลอยคนข้ามบริเวณสวนจตุจักรที่มีอยู่เดิมเป็นทางเชื่อม ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์ ทำทางเดินวิ่ง ลานกิจกรรมสวยงาม ปรับปรุงรางระบายน้ำ ถมดินปรับระดับ โดยภาพรวมคืบหน้าร้อยละ 70 แล้ว ภายใต้วงเงิน 5 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จพร้อมกับงานปรับปรุง 3 สวน ฉะนั้น จะกลายเป็นการรวมพื้นที่ 4 สวนเข้าด้วยกัน คำนวณแล้วก็พื้นที่รวมทั้งหมดถึง 733 ไร่ 6 งาน 92.8 ตร.ว. เป็นสวนขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ใหญ่กว่าสวนหลวง ร.9 เขตประเวศที่มีพื้นที่ 500 ไร่

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนการบริหารพื้นที่อุทยานสวนจตุจักรนั้น เนื่องจากสวนรถไฟ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนจตุจักร เป็นสวนปิด มีรั้วรอบขอบชิด กำหนดเวลาเปิด-ปิด การบริหารสวนจึงอยู่ภายใต้สำนักสิ่งแวดล้อม มีการดูแลรัดกุมอยู่แล้ว ขณะที่สวนสมเด็จย่าฯเดิมเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต่อมาเครือเซ็นทรัล ร่วมกับเอกชนที่เกี่ยวข้อง ระดมร่วมปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะลักษณะเป็นสวนเปิด เพราะประชาชนใช้พื้นที่สัญจรไป-มาจำนวนมาก ก่อนจะส่งมอบพื้นที่ให้ กทม.ดูแล

หลังจาก กทม.ปรับปรุงสวนสมเด็จย่าฯแล้วเสร็จ จำเป็นต้องจัดเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจเขตเข้ามากวดขันหาบเร่แผงลอย ผู้แสวงหาผลประโยชน์ และหมอดูปูเสื่อที่นิยมเข้ามาใช้พื้นที่ด้วย เพราะเงื่อนไขของพื้นที่สาธารณะนั้น ประชาชนต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่มีผู้เข้ามาแสวงหากำไร รวมถึงขาประจำที่ชอบมาให้อาหารนก 4-5 รายก็จะให้เจ้าหน้าที่ตักเตือน หากฝ่าฝืนให้บังคับใช้กฎหมายทันที

ขณะที่การขอคืนพื้นที่ 26 ไร่ ตลาดนัดกลางคืน เจเจ กรีน ภายในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เพื่อรวมพื้นที่เป็นอุทยานสวนจตุจักรด้วยนั้น สำนักการโยธาได้นำเครื่องจักรหนักเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ 20 กันยายนที่ผ่านมาแล้ว ปัจจุบันงานคืบร้อยละ 30 จากนั้นจะส่งคืนพื้นที่ให้มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯภายใน 12 ตุลาคมและเข้าตรวจสอบตามสัญญาการให้สิทธิ เพื่อให้ กทม.เข้าปรับปรุงภายใต้แนวคิด “สวนจากภูผาสู่มหานที” ขณะเดียวกัน สำนักสิ่งแวดล้อมได้รับงบปี 2562 จำนวน 183 ล้านบาทแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการสำรวจและออกแบบ อีกทั้งดำเนินการประเมินราคาหาผู้รับจ้างตามขั้นตอนอีบิดดิ้ง คาดจะเริ่มก่อสร้างเดือนมกราคม ปี 2562 และกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 360 วัน

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า การจะเชื่อมสวนให้สมบูรณ์ กทม. ยังจำเป็นต้องปิดถนนกำแพงเพชร 3 แม้มีข้อสรุประหว่างเจ้าของพื้นที่ รฟท.และจราจรแล้วว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์เป็นการจัดทำแบบสอบถาม ขณะนี้อยู่ระหว่างติดประกาศเพื่อแจ้งวัตถุประสงค์ 15 วัน ก่อนทำประชาพิจารณ์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาสาเป็นผู้ดำเนินการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คาดจะทราบผลภายใน 15 ตุลาคมนี้ หากมีผลเห็นด้วยคาดจะเริ่มปิดถนนสิ้นเดือนตุลาคมนี้

“ซาวเสียงประชาชนเบื้องต้น ส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ปิดถนนเพื่อรวมสวนเข้าด้วยกัน แต่อยากให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ จึงต้องทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน” นายจักกพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายจักกพันธุ์ เปิดเผยข้อมูลอย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบัน กทม.มีพื้นที่สีเขียวรูปแบบสวนสาธารณะและสวนหย่อม รวม 7,973 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 38 ล้าน ตร.ม. หรือประมาณ 23,829 ไร่ หากคิดเป็นอัตราพื้นที่สีเขียวต่อประชากร คิดเป็น 6.71 ตร.ม./คน โดยสวนหย่อมและสวนขนาดเล็กจะอยู่ในความรับผิดชอบของเขต ส่วนสวนขนาดใหญ่รวม 37 แห่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม

“ปี 2561 นี้ กทม.มีแผนปรับปรุงสวน รวม 11 แห่งและก่อสร้างสวนเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสิริภิรมย์ (สวนสาธารณะบึงลำไผ่) เขตมีนบุรี 2.สวนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ส่วนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ได้แก่ 3.โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ (บางบอน) เขตบางบอน และ 4.โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะบริเวณซอยเพชรเกษม 69 (สวนจำปี) เขตบางแค โดยพื้นที่ทั้ง 4 สวนคิดเป็นพื้นที่สีเขียวรวม 730 ไร่ หากทั้งหมดแล้วเสร็จพื้นที่สีเขียวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.76 ตร.ม./คน” นายจักกพันธุ์กล่าว

พร้อมทิ้งท้ายว่า ชุดผู้บริหารนี้กล้าฟันธงว่าเป็นยุคที่มีกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวมากกว่ายุคอื่น เพราะเดิม กทม.มีเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว 6.5 ตร.ม./คน แต่ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียวเกินเป้าแล้ว คาดหวังยุคต่อไปจะสานต่อพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเมืองควรอยู่ที่ 9 ตร.ม./คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image