อุทยานฯนำร่องฟื้นเขาหัวโล้น2จังหวัด เล็งขอฝนหลวงช่วยพื้นที่ป่าอ่วมภัยแล้ง

วันที่ 25 เมษายน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศร้อนจัดที่เกิดขึ้นในระยะนี้ ได้ส่งผลกระทบให้หลายพื้นที่ต้องประสบกับภาวะภัยแล้งขั้นรุนแรง จากสถานการณ์ดังกล่าว พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จึงได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เร่งดำเนินการตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มความสามารถ สำหรับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของกรมอุทยานฯ คือ การเข้าดูแลปัญหาภัยแล้งในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ เนื่องจากมีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ปริมาณน้ำขาดแคลน ทำให้สัตว์ป่ามีน้ำไม่เพียงพอ กรมฯ ได้เข้าไปทำอ่างกระทะและช่วยนำน้ำเข้าไปเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้สัตว์ป่า นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์และสำนักงานสาขาทั่วประเทศ รายงานสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาแต่ละพื้นที่มาให้รับทราบ เพื่อสรุปเป็นข้อมูลนำเข้าหารือกับ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ถึงความเป็นไปได้ของการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ประสบภัย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และคาดว่าจะมีการนัดหมายเพื่อหารือในเร็วๆ นี้

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้สนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่เขาหัวโล้น 13 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ น่าน เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน และภาคอีสาน 1 จังหวัด คือ จ.เลย ภายใต้วิสัยทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันอย่างยั่งยืน โดยเข้าไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ป่า รวมทั้งสำรวจการเข้าอยู่ในพื้นที่ว่า เป็นไปอย่างถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการกำหนดให้จัดการใช้ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้อย่างเป็นระบบหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการเข้าอยู่อย่างไม่ถูกต้องก็อาจจำเป็นต้องให้โยกย้าย แต่ถ้าอยู่อย่างถูกต้องก็มีนโยบายให้ชาวบ้านเข้าไปปลูกป่าในพื้นที่อยู่โดยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ก่อนมีการส่งเสริมอาชีพการเกษตร เช่น ให้ปลูกพืชเกษตรแซมในแปลงปลูกป่า เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ไปพร้อมๆ กับการปลูกป่าให้กลับมาเจริญเติบโตเหมือนในอดีต โดยในปี 2559 จะมีการนำร่องใน 2 พื้นที่ คือ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ และ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จ.น่าน ซึ่งการดำเนินงานในปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งได้สำรวจฐานข้อมูลจนครบถ้วนหมดแล้วว่า มีชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่ากี่ราย ครอบครองอย่างถูกต้องจำนวนกี่ไร่ และจะได้ผืนป่าคืนจำนวนเท่าไร ขณะเดียวกันยังมีกระบวนการทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่กระทั่งได้รับความร่วมมืออย่างดี โดยหลังจากนี้จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูและวางแนวเขตแนวป่าและที่ทำกินให้ชัดเจน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน

“สิ่งที่ผมได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอ คือ การดำเนินการใดๆ ก็แล้วแต่ จะต้องสร้างความเข้าใจและความร่วมมือจากชาวบ้านรวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ให้มากที่สุด เพราะการฟื้นฟูป่าต้นน้ำจะต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาอาชีพ เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้โดยไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน จึงต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด หากให้กรมอุทยานแห่งชาติฯดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว อนาคตภายภาคหน้าของโครงการนี้ย่อมเกิดความสำเร็จได้ยาก สิ่งสำคัญคือขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคน และจากทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ เนื่องจากป่าต้นน้ำมีความสำคัญอย่างมาก เมื่อใดก็ตามที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย ระบบนิเวศก็จะถูกทำลายด้วยเช่นกัน และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติต่างๆ ตามมา เพราะฉะนั้นเราทุกคนต้องร่วมมือกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมาสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image