เปิดโมเดลเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “อ่าวมาหยา” หวังแก้ปัญหาทรายทรุดตัว

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล ได้มีข้อเสนอต่อสถานการณ์ และแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูอ่าวมาหยา เกาะพีพีเลอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ โดยระบุว่า ข้อเสนอแนะเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ต้องการแก้ไขปัญหาของสภาพอ่าวมาหยาในปัจจุบันนั้น ควรจะมีการจัดการพื้นที่ร่วมกับการบริหารกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในอนาคต คือ 1. การอนุรักษ์พื้นที่บริเวณที่เป็นสังคมพืชชายฝั่ง โดยอุทยานแห่งชาติจะต้องปกป้องพื้นที่ป่าชายหาดในแนวรั้วเหมือนที่เคยดำเนินการมาในอดีต ไม่ควรเปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาสิ่งก่อสร้างใดๆ หรือให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเหยียบย่ำ เหมือนกับชายหาดบริเวณเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ต้องให้ความรู้แก่ภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูสังคมพืชป่าชายหาดด้วยวิธีการปกป้องพื้นที่บริเวณอ่าวมาหยา เพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการพื้นที่สังคมพืชป่าชายหาดให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวอีกว่า การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนนั้น ควรจะให้มีการร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งชุมชนในพื้นที่ ภาคเอกชน และภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันมีคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติเป็นกลไกการมีส่วนร่วมที่สำคัญ โดยต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสังคมพืชชายฝั่ง และหาดทราย และช่วยกันปกป้องพื้นที่อย่างถูกวิธี ไม่นำพรรณไม้ต่างถิ่นเข้าไปปลูก หรือทำโครงการปลูกป่า หรือฟื้นฟูป่าชายหาดตามเข้าใจที่ผิดโดยผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านสังคมพืชชายหาด ซึ่งจะไปทำลายเมล็ดพันธุ์พืชชายหาดตามธรรมชาติ

Advertisement

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวอีกว่า 2. การจัดการพื้นที่บริเวณหาดทรายหน้าทะเล ต้องกำหนดช่วงเวลาปิดอ่าว ไม่ให้นักท่องเที่ยวเหยียบย่ำบนหาดทราย ตลอดช่วงเวลาของฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (15 พ.ค. – 15 ต.ค.) และต่อเนื่องมาในช่วงต้นฤดูท่องเที่ยวซึ่งเป็นฤดูกาลที่คลื่นลมเริ่มสงบอีก 1 – 2 เดือน (30 พ.ย.ช่วงคลื่นแต่งหาด) ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการเติมทรายจากธรรมชาติในบริเวณหน้าหาดให้สูงมากขึ้นจากในปัจจุบัน นอกจากนี้ ตลอดฤดูท่องเที่ยว อาจกำหนดวันที่ห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นหาด 1 – 2 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้หาดทรายได้กลับคืนสภาพตามกระบวนการของคลื่น  หากเป็นไปได้ ควรกำหนดห้ามขึ้นหาดในช่วงน้ำเกิด ขึ้นหรือแรม 14 ค่ำ ถึง 3 ค่ำ ช่วงเวลาที่ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นชายหาด สามารถอนุญาตให้นำเรือแล่นผ่าน ลอยลำอยู่ภายในอ่าวเพื่อชื่นชม และถ่ายภาพทัศนยีภาพอันสวยงามของอ่าวมาหยา  ทั้งนี้ ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไม่สามารถชื่นชมธรรมชาติอันสวยงามของชายหาดอ่าวมาหยาได้ เนื่องจากชายหาด คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว และเรือเป็นจำนวนมาก

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวอีกว่า ต้องมีการจัดทำเส้นทางเดินยกระดับ (Boardwalk) ตั้งแต่แนวสังคมพืชชายหาด ไปยังด้านในอ่าว และห้องน้ำ เพื่อลดการเหยียบย่ำของนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องมีการศึกษาละเอียดเพิ่มเติมถึงรูปแบบ และวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความกลมกลืน พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่จอดเรือ มีแนวทุ่นหรือ จัดทำแพลอยน้ำ ทั้งด้านหน้า และด้านหลังของอ่าวมาหยา และกำหนดพื้นที่ปลอดการเข้าออกของเรือบริเวณชายหาด และกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวบนชายหาดต่อวัน หรือต่อช่วงเวลา ให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการรองรับทางธรรมชาติ

Advertisement

ด้านนายทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึง กล่าวถึงความคืบหน้าการสร้างท่าเทียบเรือลอยน้ำ และ เส้นทางเดินยกระดับศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อ่าวมายา ว่า ที่ผ่านมากรมอุทยานได้มีศึกษาและออกแบบไว้ และอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะต้องขนวัสดุอุปกรณ์ไปทางเรือ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เหตุผลที่กรมอุทยานฯ ขยายระยะเวลาการปิดฟื้นฟูอ่าวมาหยา เพราะเรามีทุ่นสะพานจอดเรือที่สามารถนำมาใช้ได้อยู่แล้ว ซึ่งยืนยันว่าเราต้องการให้ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าชายหาด ปะการัง และโครงสร้างชายหาดได้ฟื้นฟูตัวเองอย่างเต็มที่ก่อน ซึ่งเมื่อมีทางเดินทางศึกษาธรรมชาติแล้วจะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงไปเหยียบย่ำทรายในพื้นที่กำหนดไว้ เพื่อแก้ปัญหาทรายทรุดตัวและอัดแน่น และให้มีการเติมเต็มทรายตามธรรมชาติของระบบชายหาดต่อไป โดยวัสดุที่นำมาใช้ในการก่อสร้างบนอ่าวมาหยานั้นจะต้องกลมกลืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้มีสิ่งปลูกสร้างน้อยที่สุด ซึ่งโมเดลที่ออกแบบไว้ขณะนี้ก็ยังสามารถปรับปรุงได้เพื่อให้เข้ากับสภาพพื้นที่จริง ทั้งนี้ปี 2561 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในอุทยานทั่วประเทศกว่า 19 ล้านคน ซึ่งอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราฯ มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดคือจำนวน 1.877 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 10 % ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด วันนี้ความแออัดจึงไม่ใช่เฉพาะอ่าวมาหยา แต่เป็นทุกแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานหาดนพรัตน์ธาราฯ จึงต้องมีแนวทางบริการจัดการที่เหมาะสมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image