คนข้ามเพศ-นักเรียนร้องคณะกรรมการวลพ. แบบเรียนสุขศึกษาสอนให้อคติทางเพศ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่อาคารยิปซัม ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ นางสาวพริษฐ์ ชมชื่น นักกิจกรรมอิสระและคนข้ามเพศ พร้อมด้วย นายศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ นักเรียนชั้นม.6 จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และนักกิจกรรมในมูลนิธิสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศกว่า 10 คน เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งมี ศ.มาลี พฤกษ์พงษาวลี ประธานวลพ.รับคำร้อง

นางสาวพริษฐ์กล่าวว่า แบบเรียนสุขศึกษาในปัจจุบันตั้งแต่ระดับชั้นป.1-ม.6 มีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ทั้งยังก่อให้เกิดอคติ รังเกียจ เลือกปฏิบัติ และอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ตนซึ่งมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดได้รับผลกระทบมาก และรู้สึกเป็นกังวลใจที่จะปล่อยให้มีการเรียนการสอนอย่างนี้ต่อไป ก็จะทำให้นักเรียนเติบโตไปอย่างมีอคติทางเพศ จึงมายื่นคำร้องในวันนี้เพื่อให้คณะกรรมการวลพ.ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับสังคม

ขณะที่ นายศุภณัฐกล่าวว่า แบบเรียนสุขศึกษาได้ผลิตซ้ำมายาคติที่ไม่ถูกต้องออกมา อย่างการสอนภายใต้จากฐานคิดว่าโลกนี้มีเพียง 2 เพศคือ ชาย และหญิง พร้อมระบุบทบาทของเพศที่พึงกระทำได้ พึงกระทำไม่ได้ ซึ่งกระทบต่อประเด็นความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงที่มีน้อยกว่าผู้ชาย ขณะเดียวกันมีการระบุถึงผู้ที่เบี่ยงเบนทางเพศในวิชาสุขศึกษาชั้นม.5 ว่า “เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยบุคคลอาจแสดงออกถึงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น ผู้ที่มีพฤติกรรมเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ทำให้สังคมเกิดความรู้สึกถึงความไม่ถูกต้องตามบรรทัดฐานที่สังคมได้กำหนดไว้” ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรายังมีกรอบความคิดเดิมๆ ความศักดิ์สิทธิ์ที่คนอ่านจะเชื่อถือจึงลดลง เพราะเดี๋ยวนี้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เดี๋ยวนี้หลายคนเปิดใจและยอมรับคนข้ามเพศกันแล้ว จึงอยากให้ปรับปรุงแบบเรียนดังกล่าว ให้ไม่แบ่งเรื่องความซับซ้อนทางเพศว่าต้องเป็นอย่างไร แต่ให้ผู้เรียนได้ไปคิดเอาเอง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการที่มีหน้าที่รับรองหนังสือเรียนให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ต้องเข้าใจประเด็นนี้ก่อน

Advertisement

Advertisement

 

ด้าน ศ.มาลี กล่าวภายหลังรับคำร้องว่า ต้องชื่นชมผู้ยื่นคำร้องที่กล้าเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้สังคมรับทราบว่าปัจจุบันไทยมีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติทางเพศแล้ว หากถูกเลือกปฏิบัติสามารถมาร้องเรียนกับคณะสกรรมการวลพ. ซึ่งเป็นกึ่งตุลาการที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดและสั่งลงโทษทางอาญาได้ ซึ่งที่ผ่านมาคนยังไม่ค่อยทราบ เรื่องร้องเรียนจึงเข้ามาน้อย ขณะที่คำร้องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่รอไม่ได้ โดยจะนำเข้าเป็นวาระหนึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการวลพ. 18 ตุลาคมนี้ ก่อนจะเริ่มทำการไต่สวนผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และพยาน จากนั้นจะสรุปผลการพิจารณา รวมใช้เวลาภายใน 150 วัน

แต่ทั้งนี้ คณะกรรมการวลพ.สามารถออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ก่อน อย่างการสั่งให้เรียกเก็บแบบเรียนสุขศึกษาที่มีปัญหาทั้งหมด สั่งให้หยุดการตีพิมพ์ ซึ่งคงต้องให้ที่ประชุมพิจารณาร่วมกัน 

นายศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ นักเรียนชั้นม.6 จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
พริษฐ์ ชมชื่น นักกิจกรรมอิสระและคนข้ามเพศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image