มจพ.จับมือท้องถิ่น-กรมชล ขับเคลื่อนถนนยางพารา หนุนราคากิโลละ 65 บาท

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดงานเเถลงข่าว “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” ของ มจพ. โดยมีตัวเเทนจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน, นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.), พล.ท.ยศวัฒน์ อนันต์ดิลกฤทธิ์ คณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), พล.ท.ชุมพร วิเชียร คณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), ผู้เเทนกองทัพบก, นายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ, นายเจษ เสียงลือชา ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, นายสวัสดิ์ ลาดปาละ ประธานสมาคมเครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย, นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. พร้อมตัวเเทนเครือข่าย คณาจารย์ ตลอดจนนักวิจัย มจพ. ร่วมงานแถลงข่าวจำนวนมาก

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ.กล่าวว่า ถนนยางพาราดินซีเมนต์มีความก้าวหน้าตลอดตั้งเเต่ปี 2557 รวมถึงงานวิจัยยางพาราที่เกี่ยวข้องอีกหลายชิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเน้นย้ำให้สร้างงานวิจัยเชิงประยุกต์ สร้างสรรค์ผลงานออกไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องของยางพารา สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับยางพารา ซึ่งมีความชัดเจนในการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดย มจพ.มีส่วนร่วมในการนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ

“หลังดำเนินการสร้างถนนยางพาราเมื่อปี 2557 มจพ.ได้มีการทดสอบอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีความเปลี่ยนแปลง รวมถึงเรื่องการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะยางพารา” ศ.ดร.สุชาติกล่าว

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ หัวหน้าโครงการถนนยางพาราดินซีเมนต์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าทั้งหมด โดยมีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรทั่วภูมิภาคของประเทศไทยที่มียางพาราอยู่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล คาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนยางพารา

Advertisement

“ข้อดีของการใช้ยางพารามาก่อสร้างถนน คือช่วยลดการซึมผ่านของน้ำ ลดการเเตกร้าว เพิ่มความยืดหยุ่น โดยได้ความเเข็งจากปูนและได้ความยืดหยุ่นจากยางพารา หลังจากทดลองในห้องปฏิบัติการแล้วเราก็มาสร้างถนนต้นแบบ ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 5 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกเป็นแปลงทดสอบใน มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี มีการเจาะทดสอบต่อเนื่องทุก 3 เดือน ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2560 ที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ เป็นถนนยางพาราเส้นแรกที่มีการใช้งานจริง ครั้งที่ 4 เมื่อต้นปี 2561 ที่ จ.เชียงใหม่ และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ใน จ.ขอนแก่น อย่างไรก็ตาม มจพ.มีความพร้อมเรื่องการออกแบบในการเขียนข้อกำหนดการสร้างถนนยางพารา ตลอดจนการนำเสนอเราได้จดสิทธิบัตรส่วนผสมสำหรับทำถนนยางพารา ซึ่งเป็นที่เปิดเผย สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ทันที” ผศ.ดร.ระพีพันธ์กล่าว

ผศ.ดร.ระพีพันธ์กล่าวอีกว่า การทำถนนยางพาราจะใช้น้ำยางสดในพื้นที่ เนื่องจากมองเห็นถึงความสำคัญของการกระจายรายได้เข้าสู่ชาวสวนยางในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล 2 ต่อ คือ 1.เรื่องโครงสร้างพื้นฐานหรือถนนที่มีคุณภาพ 2.ช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นโดยตรง โดยสหกรณ์ที่ส่งน้ำยางมาทำถนนจะต้องคงคุณภาพและต้องออกใบรับรองคุณภาพ ตลอดจนออกใบเสร็จรับเงินโดยคณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้แทนของสหกรณ์ ซึ่งจะมีการกำหนดราคาเพื่อกระตุ้นให้ราคายางพาราดีขึ้น โดยคาดว่าจะผลักดันราคายางพาราได้ถึงกิโลกรัมละ 65 บาท ซึ่งเป็นราคาที่กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ คิดออกมาแล้วว่าเป็นราคาที่เกษตรกรจะอยู่ได้ ทั้งนี้ ยังมีความร่วมมือกับกรมชลประทาน เพื่อเป็นต้นแบบทำถนนยางพาราทั้ง 17 สำนักทั่วประเทศ โดยกรมชลอนุมัติงบแล้ว นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หน่วยงานท้องถิ่น และการยางแห่งประเทศไทยในการดำเนินการสร้างถนนยางพาราด้วย

ด้านนายนิพนธ์กล่าวว่า อยากเชิญชวนทุกท่านร่วมงานวันยางพาราบึงกาฬที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 ธันวาคมที่จะถึงนี้ โดยปีนี้จะมีการสาธิตทำถนนยางพาราต่อเนื่องจากเส้นเเรกที่ อ.เซกา โดยเริ่มต้นทำถนนวันที่ 1 ธันวาคม โดยมุ่งหวังให้เกิดการใช้ยางในพื้นที่และทำให้เกษตรกรมีความสุข โดยต้องเอ่ยชื่อ 3 ท่าน คือ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย และนายจาง เหย็น ประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป ที่ให้แนวคิดว่าต้องระบายยางออกให้มากที่สุด พร้อมช่วยเพิ่มมูลค่า วันนี้บึงกาฬมีโรงงานหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ โดยรัฐบาลให้งบ 193 ล้านบาทสร้างโรงงาน ทั้งนี้ ต่อวัน เราสามารถผลิตหมอนยางพาราได้ 1,000 ใบ ที่นอน 50 ผืน น้ำยางข้น 50 ตัน เเละยางแผ่น 10,000 แผ่น ซึ่งวันนี้มีตลาดจีนรองรับปริมาณมาก ส่วนเรื่องมูลค่านั้น น้ำยางสด 5 กิโลกรัม ทำหมอนได้ 1 ใบ ราคา 400 บาท

“ต้องขอบคุณรัฐบาล วันนี้สำนักงบประมาณบอกให้เตรียมต่อยอดให้ไกลกว่านี้ ดังนั้น จึงเตรียมต่อยอดนำยางแผ่นมาทำสนามกีฬา โดยในวันยางพาราบึงกาฬที่จะถึงนี้จะเปิดเเข่งขันฟุตบอลบนสนามยางพาราด้วย”
นายนิพนธ์กล่าว และว่า อยากเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการใช้ยางมากกว่าการให้เงินชดเชยไร่ละ 1,000-1,500 บาท เพราะได้เงินมาไม่นานก็หมด ขณะที่ยางพาราอยู่เต็มท้องตลาด ดังนั้น วันนี้ต้องระบายยางออก มีเเบบให้ท้องถิ่นทั่วประเทศใช้ยางพาราทำถนนได้ นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลแก้กฎหมายท้องถิ่นให้เกิดการบูรณาการเพื่อประโยชน์ของประชาชน เช่น ให้ท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณซื้อที่นอน หมอน อุปกรณ์ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้ เพราะวันนี้ท้องถิ่นทำอะไรก็ผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ภายในงานยังมีการเเลกเปลี่ยนความเห็นโดยเกษตรกรชาวสวนยางแต่ละภูมิภาค ตลอดจนนักวิชาการ เเละหน่วยงานภาครัฐด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image