‘นักวิชาการ’ ชี้ ‘พระสังฆราช’ ไร้อำนาจทางกฎหมาย แต่ต้องได้รับยกย่องจากพุทธศาสนิกชน

เมื่อวันที่ 24 มกราคม นายสุรพจน์ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา เปิดเผยว่า กรณีที่กลุ่มประชาชนผู้ธำรงพุทธศาสนาและเทิดทูนสถาบัน เข้ายื่นเรื่องต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ใน 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 7 และมาตรา 10 โดยเสนอให้ถวายคืนพระราชอำนาจแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช และเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะหลายรูปเหมือนโบราณราชประเพณีนั้น การเรียกร้องให้กลับมาใช้กฎหมายเดิม คือให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่มีที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เสนอชื่อ โดยการย้อนกลับไปในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นยุคภายหลังจากการตั้งนิกายธรรมยุตขึ้นมา เมื่อย้อนกลับไป พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแรก คือ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ไม่บัญญัติเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช บัญญัติเพียงว่า กำหนดให้มีสมเด็จพระสังฆราชเพียงองค์เดียว และเป็นประธานของ มส.แต่การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระมหาษัตริย์ทรงเป็นผู้คัดเลือก และสถาปนาเอง ต่อมา พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 อยู่ในยุคที่บ้านเมืองใช้ระบอบประชาธิปไตย และใน พ.ร.บ.บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช แต่ไม่ระบุขั้นตอนในการเสนอนาม และคุณสมบัติของสมเด็จพระราชาคณะว่าต้องมีพรรษา หรือสมณศักดิ์สูงสุด ดังนั้น การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามโบราณราชประเพณี เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์
นายสุรพจน์กล่าวอีกว่า สำหรับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ที่มีข้อขัดแย้งอยู่ เพราะในมาตรา 7 ระบุชัดเจนในขั้นตอนการเสนอนามเพื่อตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเข้าใจว่าคณะสงฆ์นิกายธรรมยุต และมหานิกายที่เป็นกรรมการ มส.ต้องต่อรองกันให้แก้ไขกฎหมายในหมวดสมเด็จพระสังฆราช โดยอิงกฎหมายบ้านเมือง และใช้กระบวนการเดียวกัน ดังนั้น หากจะแก้กฎหมาย ต้องแก้ที่โครงสร้าง เพราะโครงสร้างศาสนากับรัฐเป็นตัวกำหนดรูปแบบ ทางออกในระยะยาวต้องแยกศาสนาออกจากรัฐ และให้องค์กรศาสนาเป็นองค์กรเอกชน หากแก้กฎหมายเพียงเพื่อค้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช จะทำให้กลุ่มสนับสนุนออกมาต่อต้าน และกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ถ้าดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย จะมีความชอบธรรมของกฎหมายรองรับ
“ตำแหน่งพระราชาคณะ หรือสมเด็จพระสังฆราช ควรเป็นตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ เชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการปกครอง และต้องมาจากการยกย่องสักการะคุณงามความดีของพุทธศาสนิกชน”นายสุรพจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image