จิตแพทย์เตือน ‘โรคเสพติดออนไลน์’ หนึ่งในข้อวินิจฉัยอาการจิตเวช

เมื่อวันที่ 28 เมษายน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าประชากรในวัยทำงานมีปัญหาสุขภาพจิตกันมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาภัยแล้ง ความเครียดจากหนี้สิน และความรัก กันมากขึ้น ซึ่งอาการที่พบอันดับ 1 ได้แก่ วิตกกังวล และซึมเศร้า รองลงมาคือปัญหาติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นำไปสู่ปัญหาทะเลาะวิวาทในสถานประกอบการ นอกจากนี้ยังพบเทรนด์ใหม่มีการเสพติดการพนันออนไลน์ เสพติดโซเชียลมีเดีย หรือโรคเสพติดพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงาน แต่หาทางออกไม่ได้เลยใช้เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านี้จนเกิดการเสพติด สูญเสียความรับผิดชอบในการทำงาน เสียการรับผิดชอบในครอบครัว เป็นต้น

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า วิธีการสังเกตว่ามีปัญหาเสพติดสื่อหรือไม่นั้น ดูจากการใช้สื่อออนไลน์ติดต่อกันเป็นเวลานาน 3 ชั่วโมง โดยไม่มีการหยุดพัก ซึ่งถือเป็นอาการเริ่มต้น แต่ถ้าจะดูว่ามีเป็นโรคหรือไม่นั้นดูจากการสูญเสียการทำหน้าที่ เช่น ไม่รับผิดชอบต่องาน ไม่ไปทำงาน หรือพ่อ แม่ ไม่ทำหน้าที่ในการดูแลบุตร อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องการเสพติดสื่อออนไลน์ถือเป็นปัญหามาก โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทยมักใช้ไปเพื่อความบันเทิงมากกว่า ทำให้องค์การอนามัยโลกเตรียมที่จะบรรจุเรื่องของการเสพติดสื่อออนไลน์ให้เป็น 1 ในคำวินิจฉัยทางจิตเวช คาดว่าจะประกาศอยู่ในระบบการวินิจฉัยใหม่ที่เป็นเกณฑ์ให้แต่ละประเทศใช้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้ และหลังองค์การอนามัยโลกประกาศใช้แล้วกรมสุขภาพจิตก็จะมีการสำรวจปัญหาสุขภาพจิตแรงงานไทยอีกครั้งเพื่อระบุความรุนแรงโรคการเสพติดพฤติกรรม ว่าอยู่ในระดับใด

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า สุขภาพจิตในสถานประกอบการเป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้กรมสุขภาพจิตร่วมกับสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันจัดทำโครงการความสุข 8 ประการ สร้างสุขด้วยสติ เน้นการสื่อสารภายในที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ที่เริ่มมีปัญหาต้องรู้จัดการแผนชีวิต เช่น ออกกำลังกาย ฝึกการผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ ถ้าเป็นมากก็ต้องได้รับการปรึกษานักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จะมีคลินิกสุขภาพจิตมีบุคลากรเหล่านี้ทุกแห่ง ส่วนโรงพยาบาลชุมชนก็มีเกือบจะครบทุกแห่งแล้ว.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image