กทม.ถกแก้น้ำเน่าคลองแสนแสบ กวดขันโรงงานริมคลอง วางแผนทำใสสะอาดใน2ปี

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมการควบคุมการระบายน้ำทิ้งของสถานประกอบการเพื่อการฟื้นฟูคลองแสนแสบ โดยมีนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) คณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ตัวแทนสถานประกอบการและโรงงานที่อยู่ริมคลองแสนแสบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายอมร กล่าวว่า การปรับปรุงฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ และการปรับภูมิทัศน์คลอง ถือเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากคลองแสนแสบเป็นคลองเก่าแก่ และอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง กทม.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ สำนักการระบายน้ำ และสถานประกอบการและโรงงานที่อยู่ในพื้นที่คลองแสนแสบ หาแนวทางควบคุมการปล่อยน้ำทิ้งเพื่อฟื้นฟูพัฒนาคลองแสนแสบให้ใสสะอาดตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เป็นคลองต้นแบบในการพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพของน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ 3 ด้าน คือ 1.เดินทางสัญจร 2.ใช้เป็นเส้นทางระบายน้ำเสียในเวลาปกติและใช้เป็นพื้นที่ระบายน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วม และ3.ใช้เป็นเส้นทางท่องเที่ยว ซึ่งกทม.ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาคุณภาพน้ำคลองแสนแสบให้ดีขึ้นภายใน 2 ปี โดยในปี 2561 น้ำในคลองต้องใสสะอาด ประชาชนสามารถใช้ในการอุปโภคพื้นฐานได้

นายวิจารย์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษริมคลองแสนแสบและคลองสาขาในพื้นที่กทม. ครอบคลุม 21 เขต มีแหล่งกำเนิดน้ำเสีย 631 แห่ง แบ่งเป็นที่ดินจัดสรร 157 แห่ง อาคารชุด 144 แห่ง ภัตตาคารร้านอาหาร 107 แห่ง ห้างสรรพสินค้า 81 แห่ง โรงแรม 66 แห่ง โรงพยาบาล 62 แห่ง และตลาด 14 แห่ง โดยแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โรงแรม 34 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 38.64 รองลงมา อาคารชุด 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 25 และโรงพยาบาล 18 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 20.45

ด้านนายพสุ กล่าวว่า สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในแนวคลองแสนแสบครอบคลุม 16 เขต ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรม 1,300 แห่ง คาดว่าน่าจะมีโรงงานที่เข้าข่ายการปล่อยน้ำเสียทิ้งสู่คลอง ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จำนวน 30 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ปล่อยน้ำเสียที่มีค่าบีโอดีกับสารอินทรีย์ ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ดังนั้นจากนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้าไปตรวจสอบและควบคุมการปล่อยน้ำเสียทิ้งให้เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนดไว้ ทั้งนี้หากพบว่าโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ควบคุมคุณภาพน้ำตามที่กำหนด จึงจะใช้ พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 ให้โรงงานต่างๆ ปรับปรุงระบบระบายน้ำเสียให้เหมาะสมในระยะเวลาหนึ่ง หากยังไม่ปฏิบัติตาม อาจจะสั่งให้โรงงานอุตสาหกรรมหยุดพักการทำงานต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image