สกู๊ป น.1 : ผ่า’แพทย์ฉุกเฉิน’ บทเรียนจาก’เติ้ง’

การถึงแก่อนิจกรรมของนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ด้วยโรคประจำตัวหอบหืด กะทันหันเกินกว่าใครจะคาดคิด

ทั้งที่นายบรรหารและครอบครัวได้เตรียมรับมือการกำเริบของอาการป่วย มีพยาบาลเฝ้าดูแลใกล้ชิด หยูกยาพร้อม สำหรับปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล

แต่จุดอ่อนกลายเป็นระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การประสานงานขลุกขลัก การซักถามอาการ กว่าจะสรุปให้รถพยาบาลมารับตัวนายบรรหาร เสียเวลาไปมาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่งนำไปสู่การสูญเสีย
จึงเป็นประเด็นเรียกร้องให้ผ่าตัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ก่อนไปถึงตรงนั้น ควรมาทำความเข้าใจถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทำงานกันอย่างไร

Advertisement

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้ข้อมูลถึงระบบทำงานในปัจจุบันว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินโทรตรงสายด่วน 1669 สพฉ.จะดีที่สุด เพราะในระบบจะทำงานประสานข้อมูลไปยังโรงพยาบาลใกล้ที่สุด เพื่อรับผู้ป่วยมาโรงพยาบาลโดยรวดเร็ว หรือโทร 1646 สายด่วนศูนย์เอราวัณ ซึ่งจะทำงานร่วมกันอยู่แล้ว สิ่งสำคัญอยากให้ประชาชนเรียนรู้ในการช่วยชีวิตเบื้องต้นด้วย

ยกตัวอย่าง กรณีผู้ป่วยหอบหืดให้ปฐมพยาบาลด้วยการให้ผู้ป่วยนั่งหรือยืนในท่าโน้มตัวไปข้างหน้า หลังและหน้าอกตรง ให้อยู่ในอากาศถ่ายเทสะดวก คลายเสื้อผ้าให้หลวม
หากผู้ป่วยมียาพ่น ให้พ่นยาที่มีอยู่ หากไม่ดีขึ้นให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือ
หรือกรณีผู้ป่วยหลอดเลือดในสมองแตก ตีบ หรือตัน จะมีอาการอ่อนแรง ชาบริเวณใบหน้า แขน ขา หรืออ่อนแรงขาครึ่งซีก การพูดผิดปกติ เช่น ลิ้นคับปาก พูดไม่ชัด อาการจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ต้องโทรแจ้งขอความช่วยเหลือโดยด่วน

ในระหว่างนั้นให้ดูว่ารู้สึกตัวหรือมีการตอบสนองหรือไม่ ถ้าระดับความรู้สึกลดลง ไม่รู้สึกตัว ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงตัวป้องกันการสำลักอาหารหรือน้ำลาย หากผู้ป่วยหยุดหายใจให้กดนวดหัวใจ
ขณะที่ นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ชี้แจงการทำงานของศูนย์ว่า จะเป็นศูนย์กลางการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำงานกับ สพฉ. และเครือข่ายโรงพยาบาลในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2550

Advertisement

ก่อนหน้านั้นจะเป็นลักษณะต่างคนต่างทำงาน เกิดปัญหาทำงานทับซ้อน ไม่เป็นระบบ จนไปถึงไม่มีรถไปรับผู้ป่วย แต่ในปัจจุบันประชาชนสามารถโทรแจ้งเหตุได้ที่สายด่วนทั้ง 2 หมายเลข คือ 1669 และ 1646 ซึ่งศูนย์รับแจ้งเหตุจะประสานโรงพยาบาลใกล้จุดเกิดเหตุมากที่สุด โดยแบ่งพื้นที่เป็น 9 โซน มีโรงพยาบาลหลัก 9 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะมีเครือข่ายโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงร่วมประสานงานรับตัวผู้ป่วยในจุดที่ใกล้ที่สุด

ในการประสานข้อมูลขอความช่วยเหลือจะเชื่อมระบบระหว่าง 1669 กับ 1646 หากใครกดหมายเลขหนึ่งแล้วไปติดอีกหมายเลข เช่น กด 1646 แล้วสายมาติดที่1669 ก็ไม่ต้องตกใจ

หากเกิดเหตุในพื้นที่ กทม. ก็จะโอนสายอัตโนมัติไปที่ 1646 ของศูนย์เอราวัณ แต่หากพื้นที่ต่างจังหวัดจะไปที่ 1669 ของ สพฉ. โดยการโอนสายจะเป็นระบบโทรศัพท์หรือวิทยุ การติดต่อตรงนี้ไปจนถึงการรับผู้ป่วยจะไม่เกิน 10 นาที

ส่วนการยกเครื่องหรือพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้น ควรเน้นระบบให้เป็นศูนย์กลางมากขึ้น เพื่อความรวดเร็ว

นพ.เพชรพงษ์กล่าวว่า เมื่อประชาชนแจ้งเหตุมาที่สายด่วนแล้ว เจ้าหน้าที่จะสอบถามที่อยู่หรือสถานที่ของผู้ป่วย เรื่องนี้สำคัญมากต่อการเข้าไปช่วยเหลือ ที่ผ่านมามักประสบปัญหาการแจ้งที่อยู่และความเข้าใจของเจ้าหน้าที่คลาดเคลื่อน ทำให้เสียเวลาค้นหาตำแหน่งที่ถูกต้อง

ดังนั้นขอให้ตั้งสติและแจ้งจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน หรือแจ้งจุดเด่นที่สังเกตได้ง่าย จากนั้นเจ้าหน้าที่จะสอบถามอาการผู้ป่วยเพื่อจัดทีมช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ก่อนจะประสานไปยังโรงพยาบาล
ระยะเวลาของการให้ความช่วยเหลือที่ตั้งใจไว้คือต้องการให้ถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที แต่ในการปฏิบัติจริงคงไม่สามารถการันตีได้ เพราะมีปัญหาอุปสรรคหลายด้าน
โดยเฉพาะปัญหาจราจร ยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนยิ่งใช้เวลาเดินทางนานขึ้นไปอีก มีตัวอย่างเคยได้รับแจ้งเหตุและออกไปพร้อมทีมช่วยเหลือ แต่รถติดที่สะพานกรุงธน ใช้เวลานานถึง 30 นาทีกว่าจะข้ามสะพานไปได้

อีกปัญหาที่ต้องเร่งทำคือการเพิ่มบุคลากร ปรับปรุงคุณภาพปฏิบัติการให้มากกว่านี้ เพราะโรงพยาบาลบางแห่งต้องจัดเจ้าหน้าที่จากแผนกฉุกเฉินมาร่วมทีม แต่หากมีงานล้นมืออยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถออกมาได้ ก็ไม่สามารถจัดทีมช่วยเหลือได้

ทางออกคือศูนย์ก็จะประสานไปยังโรงพยาบาลอีกแห่งที่อยู่ในระยะใกล้เคียง ซึ่งอาจใช้เวลาเดินทางมากขึ้น
ดังนั้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจึงสำคัญมาก แต่สิ่งที่ระบบต้องปรับปรุงคือบุคลากรที่ยังขาดแคลน
การสูญเสียของชีวิตหนึ่ง ย่อมทำให้ผู้อยู่ข้างหลังเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็ควรแปรความสูญเสียเป็นบทเรียน เพื่อมิให้คนอื่น ต้องประสบกับความขมขื่นแบบเดียวกันอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image