เครือข่ายเหล้าฯร้อง”ปิยะสกล”เอาผิดสมาคมธุรกิจแอลกอฮอล์ ทำสังคมเข้าใจกฎหมายคลาดเคลื่อน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ประมาณ 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ที่ลงโฆษณาตัดตอนคำพิพากษาของศาลฏีกาที่ 15453/2557 โดยระบุข้อความว่า “มั่นใจได้ว่าทุกครั้งที่ติดสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่อวดอ้างสรรพคุณและจูงใจให้ดื่มเป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย” เพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้รับมอบ

นายชูวิทย์กล่าวว่า เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มีการอ้างคำพิพากษาของศาลบางส่วนมาเผยแพร่ผ่านสื่อเพื่อทำให้กลุ่มผู้ค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าใจผิดว่า หากถ้าไม่บอกสรรพคุณก็จะไม่ผิดกฎหมายนั้น แต่ที่จริงแล้วการโฆษณาตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 นั้นมีรายละเอียดมากกว่านั้น แค่เห็นขวดก็ผิดกฎหมายแล้ว ถ้าพ่อค้าแม่ค้าเข้าใจตามที่ทางสมาคมฯ อ้างแล้วถูกดำเนินคดีความ กลุ่มสมาคมฯ จะรับผิดชอบอย่างไร ดังนั้น ทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้กระทรวงทำการตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากพบว่ามีความผิดก็ขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย หากลักษณะนี้สามารถทำได้ ก็จะมีกลุ่มธุรกิจออกมาทำอย่างนี้เรื่อยๆ

นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องนี้เสนอข้อต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.ต่อไป และจะมอบหมายให้ นพ.สมานเป็นผู้ดูแลศึกษาคำพิพากษาดังกล่าว ส่วนตัวเชื่อว่าคำโฆษณาที่มีการร้องเรียนนั้นเป็นการตัดคำพิพากษามาเพียงบางส่วนที่อาจจะไม่ถูกต้อง ส่วนสื่อที่มีการนำเสนอเรื่องนี้ต้องดูว่าจะมีความผิดฐานบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือไม่

นพ.สมานกล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการนำเข้าที่ประชุมซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ผู้แทนกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจารย์ทางด้านนิเทศศาสตร์ ซึ่งเห็นว่าการไม่มีการโฆษณาบนโลกนี้ที่จะไม่บอกสรรพคุณเพื่อชักชวนให้เกิดการซื้อสินค้า ส่วนการโฆษณานั้นก็มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะทำให้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความผ่านตัวอักษร เสียง ภาพยนตร์ ก็ถือว่าเป็นการโฆษณาเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มยอดขายทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม หากสื่อต่างๆ ไม่ทราบหรือไม่มั่นใจว่าโฆษณาที่ลงไปนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ก็สามารถสอบถามเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ส่วนทางสมาคมฯมีการโฆษณาเช่นนี้ นักกฎหมายกำลังพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image