หัวอก ‘แท็กซี่’ ไม่โอเค พรุ่งนี้บุกทำเนียบ ร้องขึ้นมิเตอร์-เหมา และเพราะเหตุนี้จึงปฏิเสธผู้โดยสาร-เลือกฝรั่งดีกว่า(คลิป)

เอาล่ะสิ! ทำเอาหัวร้อนกันไปตามๆ กัน เมื่อ “สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถแท็กซี่” ประกาศลั่นจะยกเลิกกดมิเตอร์-ปรับราคาเหมาจ่าย 12,000 บาทต่อเดือน

พร้อมนัดหมายผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รวมตัวกันเข้ายื่นคำร้องไปให้ถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ย.) หลังกรมการขนส่งทางบกเตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคมปรับราคาค่าโดยสารขึ้นอีก 8% ให้กับผู้ขับขี่รถที่ร่วมในโครงการ “แท็กซี่โอเค” ของรัฐบาล ที่มีจำนวนทั้งหมดเพียง 13,000 คัน จากแท็กซี่นับแสนคันใน กทม.และปริมณฑล

กุมขมับคับอกคับใจกันทุกฝ่าย ทั้งคนขับแท็กซี่ที่ยืนยันว่าสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายวัน ฝั่งผู้โดยสารที่มีรายได้และค่าครองชีพแปรผกผันกับค่าใช้จ่าย เห็นทีการใช้รถสาธารณะจะเหลือตัวเลือกให้ใช้ได้น้อยลงทุกขณะ

เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ผ่านมา ทีมข่าวในประเทศ “มติชนออนไลน์” ได้สนทนากับโชเฟอร์แท็กซี่รายหนึ่ง ชวนถามไถ่เรื่องจิปาถะ ก่อนจะพูดถึงประเด็นการปรับราคามิเตอร์ขึ้นจากเดิม ซึ่งโชเฟอร์คันนี้ก็เป็นหนึ่งแนวร่วมเห็นสมควรเช่นนั้น พร้อมอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็น และย้ำว่าเรื่องนี้เป็นสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้!

Advertisement
“วันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ผมจะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลร่วมกับเพื่อนแท็กซี่กลุ่มของนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการสหกรณ์แท็กซี่สยามฯ เพื่อเรียกร้องนายกรัฐมนตรีให้ปรับเพิ่มค่าโดยสาร ปรับมิเตอร์แท็กซี่เพื่อให้เราอยู่ได้ และเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติหรือ 2 มาตรฐานกับแท็กซี่โอเค ที่ให้เพิ่มค่าโดยสาร ค่ามิเตอร์เฉพาะแท็กซี่โอเค ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คัน ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดพวกเรานำเสนอกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ไปหลายครั้งแล้ว”
“ส่วนหนึ่งที่อยากพูดคือการแก้ปัญหาแท็กซี่ช่วยเกาให้ถูกที่คัน และอย่าอ้างเอาจุดดำเล็กๆ ในผ้าขาวมาปิดกั้นผ้าขาวทั้งหมด เลิกได้ไหมที่ยกข้อเสียของแท็กซี่เพียงส่วนน้อยมาอ้างว่าเราไม่ดีไม่สมควรได้เพิ่มราคา เพียงเพราะมีแท็กซี่บางส่วนเป็นคนไม่ดี ผมถามว่าทำไมคนที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลไม่จัดการคนเหล่านี้ กำจัดออกไป จัดการสหกรณ์ที่ปล่อยเช่า จัดการที่คนอนุญาต ไม่ใช่เอาเรื่องของคนไม่ดีไม่กี่คน มาเป็นข้ออ้างไม่ให้ความเป็นธรรมกับแท็กซี่คนอื่นๆ ที่เขาก็หากินสุจริต และไม่ได้ทำไม่ดี ยังบริการดี  และอีกเรื่องไม่เพิ่มค่าโดยสารให้เรา รัฐบาลช่วยลดต้นทุนให้เราได้ไหม เราอยากเรียกร้องบ้าง ข้อเรียกร้องเดิมๆ ที่ถูกเพิกเฉยแล้วอ้างโน่นอ้างนี่กับเราตลอด เราทำถูกกฎหมายทุกอย่าง แต่บางทีข้อบังคับก็กดดัน ผลักให้เราไปทำอะไรที่ไม่ถูกกฎหมายเพื่อความอยู่รอด” แท็กซี่วัย 50 ต้นๆ และยึดอาชีพโชเฟอร์มามากว่า 20 ปี บอกเล่าระบายความในใจ

กรณีแท็กซี่เมืองหลวง ปมเรื่องบริการ และราคา ยังเป็นประเด็นที่เสียงแตก

ที่ผ่านมาผู้โดยสารต่างโฟกัสถึงพฤติกรรม บริการที่ห่างไกลคำว่าเซอร์วิสมายด์ เรื่องใหญ่แสนเซ็งก็ “ปฏิเสธผู้โดยสาร” และ “การเลือกรับแต่ชาวต่างชาติ” ของเหล่าโชเฟอร์แท็กซี่ที่เจอกันประจำ ในมุมผู้รับบริการทำให้คะแนนความน่าเห็นใจคนขับแท็กซี่ลดลงไปมาก

และต่อไปนี้ก็เป็นบทสนทนาที่เราได้พูดคุยกันไว้กับโชเฟอร์รายนี้

Advertisement

ถาม : กี่ปีแล้วมิเตอร์สตาร์ต 35 บาท?
ตอบ : 26 ปี ราว 25-26 ปีแล้ว ผมจะบอกค่าแรงให้นะ ตอนขับรถใหม่ๆ เหลือวันละ 700-800 บาทเข้าบ้าน ตอนนี้เหลือ 300 บาทยังยากเลย ซื้อรถแท็กซี่ 1 คัน ราคา 1.3 ล้านบาท แท็กซี่ต้นทุนสูงกว่ารถเก๋งบ้าน แต่ค่าแรงของคนที่ทำงานนี้ลดลง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นๆ ดอกเบี้ยไฟแนนซ์ก็สูง ค่าบำรุงรักษาอะไรต่างๆ ของรถ เพิ่มขึ้นตลอด

ถาม: วันนึงพี่มีทุนเท่าไหร่?
ตอบ: ต้นทุนนะ รถส่งเดือนละ 18,000 บาท น้ำมัน, แก๊ส วันละ 400 บาท ค่าสึกหรอ ตีเป็น 100 บาท

ถาม: 500 บาท ต้นทุนฟิกซ์ๆ ค่าเชื้อเพลิง ค่าสึกหรอ
ตอบ: ค่าคนขับ (ค่าผ่อนรถ) อีก 600 รวมแล้ว 1,100 บาท นี่คือต้นทุนที่ยังไม่รวมค่าแรงที่จะทำงาน ถ้าได้ 1,500 เป็นค่าแรง 400 บาท

ถาม: ตอนนี้ที่พี่เรียกร้อง อย่างส่วนตัวที่พี่ขับแท็กซี่ เราเรียกร้องจุดไหนที่มันจะโอเค แล้วเราอยู่ได้ ผู้โดยสารอยู่ได้?
ตอบ : ถ้าแท็กซี่เป็นของเราเอง มันจะมีความรับผิดชอบ เช่น ประกันประจำปี ไม่ได้เรียกแค่ค่าเช่า ค่าแก๊ส ค่ารักษา จะมีประกันประจำปีเป็นต้นทุนการลงทุน รวมไล่ๆ ต้นทุนอยู่ที่ 1,500 บาท ต้องหาให้ได้วันละ 2,000 บาท เฉลี่ยแล้วจะเหลือค่าแรงวันละ 500 บาท จะได้เท่านี้ก็ถือว่าโอเคแล้ว แต่กว่าผมจะได้เท่านี้ ต้องทำงาน 13-15 ชั่วโมง ที่เรียกร้องคือ 1.ราคาที่สตาร์ต 35 บาท เขาไม่ต้องการ แต่ต้องการให้ขยับเป็น 40-50 บาท จาก 2 กิโลเมตรแรก 5 บาท 50 สตางค์ เขาต้องการให้ถึง 10 บาท เฉลี่ยแล้วตกกิโลเมตรละ 10 บาท 10 กม. 100 บาท ,100 กม. 1 พันบาท, 1 พัน กม. 1 หมื่นบาท ไปได้ทั่วประเทศ ไม่ต้องนั่งเถียงอะไรเลย 10 กม. 100 บาทแน่นอน อย่างมิเตอร์ทุกวันนี้ 10 กม. รถไม่ติดได้แค่ 85 บาท

“ทำไมเกาไม่ถูกที่คัน ราคาแท็กซี่ทุกวันนี้บังคับต้องกดมิเตอร์ทั่วประเทศ ลักษณะการกดมิเตอร์มันทำให้แท็กซี่ขาดทุน”

ถาม: แท็กซี่แพงขึ้นไม่กลัวคนไม่นั่งเหรอ
ตอบ: เขาไม่ได้มองแค่ตรงนั้น ยังไงแท็กซี่มันคือรถทางเลือก ยังไงก็รู้ว่าเป็นขนส่งสาธารณะที่ไม่ได้จำเป็น คนจำเป็นก็ขึ้น ไม่จำเป็นก็นั่งรถตู้รถเมล์ แต่นี่จะปรับเฉพาะแท็กซี่โอเค จะทำให้มันเป็นสองมาตรฐานทำไม แท็กซี่โอเคมีอยู่หมื่นกว่าคัน แท็กซี่ไม่โอเคมีอยู่ 8 หมื่นกว่าคัน

ถาม: ของพี่ “ไม่โอเค”
ตอบ: เพราะมันมีข้อยกเว้น คือรถก่อนจดทะเบียนปี 2561 ไม่บังคับให้ติดตั้ง

ถาม: ปัญหาคลาสสิกเลย แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารทำไม?
ตอบ: นี่ไงที่เล่าให้ฟัง ผู้โดยสารเจอรถติดทิ้งรถกลางทางขาดทุนนะครับ คิดในมุมของเราดู ไป 150 บาท ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางทิ้งรถ ทิ้งเงินไว้ 150 บาทเดินหนี แต่แท็กซี่ยังติดอยู่ นั่นคือต้นทุนของเขา

โชเฟอร์คนเดิมยังกล่าวว่า เหตุผลที่ทำไมมักจะเลือกรับผู้โดยสารชาวต่างชาติ นั่นเป็นเพราะ ”ทิปหลังมิเตอร์”

“เช่น ค่าโดยสาร 75 บาท แต่ชาวต่างชาติให้ 100 บาท ฝรั่งต่างชาติทิปแทบทุกคน แต่คนไทยไม่ทิป ถ้าคนไทยและต่างชาติสามารถจ่ายค่าโดยสารในราคาที่เท่ากันแล้ว ทำไมจะเป็นไปไม่ได้” คนขับแท็กซี่คนเดิมกล่าว

ส่วนนี้ก็ฝากไว้ให้ผู้อ่านคิดตามกันว่า สุดท้ายแล้วทางออกที่เราจะร่วมเดินทางไปด้วยกันได้ระหว่าง “โชเฟอร์” และ “ผู้โดยสาร” จะอยู่ที่ไหน และรัฐบาลจะหาทางออกให้เราเลือกใช้บริการรถขนส่งสาธารณะอย่างสบายใจได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image