“วิญญัติ”ซัด“บิ๊กตู่”ใจเเคบ ซัดทนายให้ความรู้ผ่านสื่อทำป่วน ชี้เป็นสิทธิตามรธน.

วิญญัติ ชาติมนตรี

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์ นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.)กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าถึงทนายความมีการเเสดงความคิดเห็นขยายคดีออกสื่อมวลชน ทั้งที่ควรจะเป็นเรื่องในศาล ทำให้สังคมเกิดความ วุ่นวายว่า ในฐานะซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ อยากจะกล่าวขอบคุณนายกฯที่ให้ความสนใจกับการประกอบอาชีพต่างๆไม่ว่าจะเป็นส่วนทนายความหรือการเเสดงความเห็นบทบาทของละครไทย โดยทนายความเป็นวิชาชีพทางด้านกฎหมาย มีกฎหมายเฉพาะ ตามพ.ร.บ.ทนายความ 2528 ทนายความจึงเป็นผู้มีความรู้ทางกกฎหมายที่สามารถให้ความคิดเห็น ด้วยวิธีการต่างๆได้ภายในกรอบของกฎหมายใครจะห้ามหรือปิดกั้นไม่ได้ เพราะในสังคมย่อมมีเรื่องราวข้อพิพาทหรือการกระทบสิทธิเสรีภาพต่างตลอดเวลา สภาพการณ์บ้านเมืองปัจจุบันที่อาจมองว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพกว่าปกติ นั่นไม่หมายความว่า ทนายความจะต้องหวาดกลัวการทำหน้าที่หรือปิดปากตัวเองเพราะจำนนต่ออำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้ง ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 34 บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ฯ การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่เพื่อความมั่นคง รักษาความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของ บุคคลอื่น เเละเสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครองโดยที่การใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดต่อศีลธรรม ซึ่งในตอนท้ายของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวยังบัญญัติไว้ว่า จะต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

การที่ นายกฯ ออกมากล่าวว่าทนายความทำสังคมประเทศชาติวุ่นวายเพราะการแสดงความเห็นนั้น คนในสังคมอาจมองว่าเป็นทัศคติที่คับแคบและขาดมโนสำนึกที่ดีต่อประชาชน หรือไม่

เพราะในปัจจุบันการออกมาให้สัมภาษณ์ของทนายความในเรื่องต่างๆถือเป็นการให้ความรู้ประชาชนเพื่อให้เข้าถึงกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ว่าประชาชนต้องรู้กฎหมายเเละ รัฐธรรมนูญเองก็มีเจตนารมย์สนับสนุนอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย ทนายความไม่จำเป็นเฉพาะที่จะต้องทำหน้าที่ในศาลที่ทนายความมีหน้าที่ตรงนี้อยู่เเล้ว เพียงอย่างเดียว

ซึ่งที่ผ่านมาถึงเเม้ว่าการออกมาให้ความเห็นของทนายตามสื่อมวลชนอาจจะมีข้อคิดเห็นที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดบ้าง เเต่ก็ยังถือเป็นเรื่องดีต่อประชาชน ทำให้ประชาชนได้ความรู้ ได้ต่อยอดความคิด ไม่ใช่จะมาทำให้ประชาชนจมปรักหรือขาดความรู้ ด้านดีมีมากอยู่ ส่วนประเด็นเเละการวางตัวยึดจริยธรรมหรือไม่ จึงเป็นกรณีแต่ละบุคคลไป

Advertisement

“ผมไม่ปฏิเสธว่าทุกวิชาชีพมีทั้งคนดีคนไม่ดี เเละบางเรื่องก็เป็นความเห็นต่างกันในเรื่องของกฎหมาย ในทางกลับกันนักกฎหมายที่เป็นข้าราชการเสียอีกที่อาจจะติดด้วยข้อบังคับของหน่วยงานที่ไม่สามารถออกมาให้ความรู้ด้านกฎหมายกับประชาชนอย่างเต็มที่ ทนายความซึ่งเป็นผู้มีความรู้ด้านกฎหมายเเละออกมาให้ความรู้ประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ดีเเละสมควรที่จะสนับสนุนอย่างยิ่ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image