15ข้อเสนอยื่น “บิ๊กตู่” เรียกร้อง “วันเมย์เดย์” ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ปฎิรูปประกันสังคม ทำฟัน-ไร้สำรองจ่าย

แฟ้มภาพมติชน

เมื่อวันที่ 30 เมษายน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2559 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมที่ท้องสนามหลวง ว่า งานครั้งนี้ทางฝั่งลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานยังคงมีกิจกรรมข้อเรียกร้องต่างๆ เหมือนเช่นทุกปี โดยกิจกรรมภายในงานจะแบ่งการจัดเวทีออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งเป็นของกระทรวงแรงงานที่จะมีเวทีเสนอข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วนอีกเวทีจะเป็นของ คสรท.ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ประมาณ 3,000 คน จะมีอีกเวที ที่บริเวณถนนด้านหน้าอาคารรัฐสภาตั้งแต่เวลา 8.45 น. โดยจะมีการปราศรัยข้อเรียกร้องและจะเคลื่อนขบวนไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำกิจกรรมประกาศเจตนารมย์ พร้อมจัดรำวงเมย์เดย์ โดยได้รวบรวมประเด็นปัญหาเรียกร้องต่อรัฐบาล 6 ประเด็น คือ 1 . รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 2. ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของ สรส. 3. ต้องดําเนินการแก้ไขปัญหาการวางมาตรการอย่างเข้มข้นต่อการละเมิดสิทธิแรงงาน การ คุกคาม และการเลิกจ้างผู้นําสหภาพแรงงาน

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า 4. แรงงานจะอยู่ได้ต้องมีค่าจ้างวันละ 360 บาท เท่ากันทั่วประเทศ 5. ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยกเลิกการใช้เงินที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ครอบคลุม ผู้ประกันตนทุกคน เช่น การทําปฏิทิน การทําเสื้อวันแรงงาน ใช้เงินไปดูงานต่างประเทศ 6. จัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออมและการพัฒนาตนเอง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในเรื่องปฏิรูปประกันสังคมนั้น ทาง คสรท.เรียกร้องทุกปี แต่ไม่เคยมีการปฏิรูป ก็หวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้ความสำคัญ เพราะที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เมืององค์กรลับแล ต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง ต้องใช้ผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพ อย่างคณะกรรมการประกันสังคมต้องมาจากการเลือกตั้ง และให้ผู้ประกันตนทุกคนกว่า 10 ล้านคนมีสิทธิเลือกตั้งด้วย ขณะเดียวกันประธานบอร์ดสปส. ต้องไม่ใช่ปลัดกระทรวงแรงงาน เพราะไม่ใช่มืออาชีพด้านการบริหารการเงินการคลัง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงผู้ประกันตนเป็นหลัก อาทิ ต้องมีบัตรประกันสังคมใบเดียวรักษาโรคได้ทุกโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งสิทธิทันตกรรม ต้องปรับค่าบริการทำฟันเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 600 บาทต่อปี ควรเพิ่มมากขึ้นตามความจำเป็นและความเป็นจริง ที่สำคัญต้องไม่ให้ผู้ประกันตนสำรองจ่าย

นายบรรชา ประสิทธิ์สันต์ เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติ(สสช.)ในฐานะประธานจัดงานวันแรงงานชาติปี 2559 กล่าวว่า กิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีพิธีทางศาสนา โดยมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน จากนั้นจะตั้งริ้วขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขบวนกระทรวงแรงงาน และผู้ใช้แรงงาน เคลื่อนไปตามถนนราชดำเนินยังสนามหลวงเพื่อจัดกิจกรรมภายใต้คำขวัญ ”แรงงานพัฒนา พาเศรษฐกิจมั่นคง ดำรงชาติ ศาสน์ กษัตริย์” โดยในเวลาประมาณ 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานเปิดงาน โดยสภาองค์การลูกจ้าง 17 องค์กร จะยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ 15 ข้อ โดยขอให้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 15 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการวมตัวและเจรจาต่อรอง 2.ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเท่ากันทั่วประเทศและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 3.ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม(สปส.)และกองทุนเงินทดแทนโดยแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรรับรองสิทธิให้ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล ประกาศให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตนเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ใหม่ ตามระยะเวลาที่สปส.กำหนด และเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 ยกระดับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุฉุกเฉินตามความเป็นจริง รวมถึงเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้จากอุบัติเหตุการทำงานจากเดิม ร้อยละ 60 เพิ่มเป็นร้อยละ 100 ของค่าจ้าง

Advertisement

4.ให้รัฐบาลเร่งนำร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ… และร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ..ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่สภานิติบัญญัติ(สนช.) 5.ให้รัฐบาลตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย 6.ให้รัฐบาลยกเว้นเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างภาคเอกชนและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของลูกจ้าง 7.ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)การจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามบทบัญญัติว่าด้วยกองทุนเงินสงเคราะห์ในหมวด 13 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 8.ให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ และยุติการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน 9. ให้รัฐบาลยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน 10.ให้รัฐบาลจัดสรรงบสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

11. ให้รัฐบาลบังคับให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 11/1 กรณีแรงงานรับเหมาช่วง(ซับคอนแทรค)ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับลูกจ้างประจำโดยเคร่งครัด 12.ให้กระทรวงแรงงานเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ รวมทั้งจัดตั้งกรมคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ 13.ให้กระทรวงแรงงานจัดงบสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปฐมวัยที่ดูแลลูกหลานของผู้ใช้แรงงานที่จัดตั้งขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง 14.รัฐบาลต้องจัดให้มีระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ครอบคลุมประชากรทุกคนและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือสัดส่วนรายได้เฉลี่ยของประเทศไทย และ15. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานชาติปี 2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image