หอบ 3,000 หน้า ฟ้อง 4 หน่วยงานรัฐปม “ทางเลียบเจ้าพระยา” เปิดใจหน้าศาล หวังยุติ-ขอคุ้มครองชั่วคราว

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 09.00 น. ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ, มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน, เครือข่ายวางแผน และผังเมืองเพื่อสังคมและเครือข่ายชุมชนริมน้ำ เดินทางเข้ายื่นเอกสารยื่นฟ้องภาครัฐ 4 หน่วยงานได้แก่ 1.คณะรัฐมนตรี 2. คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 3.กระทรวงมหาดไทย และ4.กรุงเทพมหานคร มีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง กล่าวว่า การยื่นฟ้องในวันนี้เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะคุ้มครองปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญของประเทศไทย เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีกระบวนการที่นังไม่ครอบคลุม ไม่ครบถ้วนทั้งเนื้อหา และการมีส่วนร่วม ตนได้นำข้อมูลทางวิชาการของตัวเองและทีมงานตั้งแต่ พ.ศ.2559 รวมถึงความเห็นจากนักวิชาการรายอื่นๆนอกเครือข่ายที่ให้ความเห็นเป็นสาธารณะมาประกอบ

นาง ส.รัตนมณี พลกล้า จากทีมกฎหมายมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า เชื่อมั่นในข้อมูลที่เตรียมมาว่าเพียงพอให้ศาลพิจารณาได้ตั้งแต่ประเด็นของปัญหา ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงขั้นตอนการดำเนินโครงการที่ยังไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

“โครงการนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 ต่อมาเครือข่ายจึงได้ติดตามในปี 2559 เพราะก่อนหน้านั้นไม่เคยรู้เรื่องเลย อาจมีการพูดถึงแต่ไม่มีข้อมูลเผยแพร่ออกมา ที่ผ่านมามายังไม่มีกระบวนการใดๆที่ทำให้เห็นว่าโครงการจะดำเนินต่อไปได้ ตอนแรกคิดว่ามีการยุติไปแล้ว แต่สุดท้ายมีการประกาศว่ามีการเสนอให้พิจารณาการจัดจ้าง โดยกทม. เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเราเห็นว่าเป็นจังหวะที่ต้องยื่นฟ้อง หากปล่อยให้พิจารณาผ่านขั้นตอนการจัดจ้าง และประกาศให้ประกวดราคา จะก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐ และเอกชนที่จะเข้ามาประมูลด้วย โดยนอกจากจุดประสงค์ให้ยกเลิกโครงการแล้ว ยังยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวชะลอโครงการไว้ก่อนด้วย เพราะหากรอให้ศาลมีคำพิพากษา ไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน การคุ้มครองชั่วคราวก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการคุ้มครองทั้งรัฐ และเอกชนรวมถึงประชาชนที่จะได้รับผลระทบจากโครงการด้วย” นาง ส.รัตนมณี กล่าว

Advertisement

ส่วนตัวเชื่อว่าศาลจะพิจารณาให้ความคุ้มครองชั่วคราว เพราะชัดเจนว่าขั้นตอนกระบวนการต่างๆของโครงการ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นอัตลักษณ์สำคัญ การที่ตัดสินใจยื่นขอคุ้มครองในวันนี้เพราะหากผ่านไปถึงขั้นตอนการประมูลว่าจ้างเอกชนก็จะเกิดปัญหาทั้งต่อภาครัฐและเอกชนที่มาทำโครงการ. สำหรับเอกสารกว่า 3,000 หน้าที่ยื่นไป มี 4 ส่วน คือ 1. ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจากส่วนราชการและจากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม 2.งานวิจัย การศึกษาผลกระทบ 3. ข่าวในสื่อต่างๆ และกิจกรรมที่เครือข่ายผังเมืองฯ ติดตามคัดค้าน 4. หนังสือที่เคยยื่นต่อหน่วยงานต่างๆ

นายสาธิต ดำรงผล ตัวแทนชุมชนบางอ้อ เขตบางพลัด กทม. กล่าวว่า พื้นที่โครงการช่วงแรกจะผ่านมาถึงชุมชน ซึ่งจะผลกระทบแน่นอน ทั้งเรื่องขยะ วิถีชีวิต ซึ่งคนในชุมชนยังลงเรือข้ามฟาก การมีถนน จะไปทำท่าเรือตรงไหน คนจะข้ามแม่น้ำก็ลำบาก อาจข้ามไม่ได้เลย ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่มาป้อนข้อมูลโครงการให้อย่างเดียว และเปลี่ยนแบบไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าแบบไหนจริง สุดท้ายจะทำอะไร ชาวบ้านสับสน แต่ยอมรับว่าบางชุมชนก็เห็นด้วยกับโครงการนี้เพราะทำใก้ที่ดินของเขาราคาสูงขึ้น จากเดิมเป็นที่ดินตาบอด ในขณะที่หลายชุมชนนึกว่าโครงการถูกชะลอไปแล้วตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ สำนักงานศาลปกครองกลางได้รับเอกสารไว้จำนวน 5 ชุด เมื่อเวลา 10.45 น. คดีดำหมายเลขที่ ส.88/2561

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image