มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ แถลงมอบรางวัล นักวิจัย ยารักษามะเร็ง-วัคซีนอหิวาตกโรค

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลตัดสินผู้ได้รับพระราชทาน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 27

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล – เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 รพ.ศิริราช มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดแถลงข่าวการประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 27 ประจำปี 2561 โดยมี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิฯ พร้อมด้วย น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ และศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการรางวัลนานาชาติฯ ร่วมแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 27 ประจำปี 2561

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรผู้มีผลงานดีเด่นมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติรับรางวัลทั้งหมด 79 ราย โดยในปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทั้งหมดจำนวน 49 ราย จาก 25 ประเทศ ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี ตั้งแต่ ปี 2559 – 2561 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานพิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย

ประกาศนียบัตร
รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล
เหรียญรางวัล

โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 ประกอบด้วย สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ (Professor Brian J. Druker) และ ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง (Professor Dr. Mary-Claire King) ผลงานที่สำคัญของศาสตราจารย์นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ คือการค้นพบยาต้นแบบในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมุ่งเป้า ส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ในการพัฒนาวิธีการรักษาแบบมุ่งเป้าอย่างก้าวกระโดด และ ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง ค้นพบยีนสำคัญที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และการพัฒนาชุดตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจยีน ทำให้สามารถคัดกรองคนทั่วไปที่มีความเสี่ยงและวางแผนการเฝ้าระวังโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์
ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง

ด้าน สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ (Professor John D. Clemens) และ ศ.นพ.ยอน อาร์ โฮล์มเกรน (Professor Jan R. Holmgren) โดยทั้งสองรายได้ทำงานร่วมกันเป็นเวลากว่า 30 ปี ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน จนกระทั่งได้รับการทดสอบทางคลินิกเป็นที่ยอมรับโดยองค์การอนามัยโลก ผลงานดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากวัคซีนชนิดฉีด เป็นการแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดกินแทน และสนับสนุนคลังวัคซีนสำหรับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาหรือมีความเสี่ยงต่อการระบาดของอหิวาตกโรค

Advertisement
ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์
ศ.นพ.ยอน อาร์ โฮล์มเกรน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก นายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม (H.E. Mr. Staffan Herrstr?m) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย และนาย ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ (Mr. Peter Haymond) อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดี

สำหรับ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ วันที่ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ การนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี ซึ่งแต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ

การนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลดังกล่าว ในวันที่ 31 มกราคม 2562 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และในวันที่ 30 มกราคม 2562 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ แสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image