นักวิชาการหวั่น ‘โครงการเขื่อนวังหีบ’ บานปลาย

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า นักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและเลขานุการคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่อำเภอทุ่งสงและลุ่มน้ำวังหีบ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Sitang Pilailar” ว่าได้ทำหนังสือถึงพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลการผลักดันโครงการดังกล่าว ซึ่งในหนังสือระบุว่า คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาความขัดแย้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้การสั่งการของนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ครอบคลุม 3 โครงการ ได้แก่ โครงการวังหีบ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์และโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว

“ดิฉันได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมาระยะเวลาหนึ่ง และได้นำเรียนความก้าวหน้าและข้อเสนอแนะของคณะทำงานไปยังรัฐมนตรีช่วยฯเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ทั้งที่อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย พยายามผลักดันการใช้งบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงการทั้งยังอ้างคำว่า “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยขาดความเข้าใจในเจตนารมณ์ของโครงการ ขาดความเข้าใจในบริบทสังคมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ขาดความเข้าใจในหลักวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และขาดการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งล้วนแต่จะนำมาสู่ความล้มเหลวในการดำเนินโครงการและแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงพื้นที่และในระดับลุ่มน้ำ” ในหนังสือที่ ดร.สิตางศุ์ ทำถึงพลเอกฉัตรชัยระบุ

ในหนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า “ความกังวลอีกประการหนึ่งคือการขับเคลื่อนโครงการฯในลักษณะที่ดำเนินการอยู่นี้ อาจเป็นการขยายความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชน อย่างไรก็ตาม ดิฉันเชื่อมั่นว่า ฯพณฯ ท่านรองนายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงเจตนารมณ์ของการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งควรสอดคล้องกับบริบททางภูมิสังคมในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของประชาชนและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผลในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง”

ขณะที่นายวุฒิชัย แก้วลำหัด ชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว กล่าวว่า ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชและกรมชลประทานยังคงเดินหน้าสร้างเขื่อนกั้นคลองวังหีบต่อเพราะไม่ยอมรับความจริงตามที่คณะทำงานชุดที่นายวิวัฒน์ตั้งขึ้นมาศึกษา และการที่จังหวัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่นั้น ทางชาวบ้านไม่ยอมรับและจะเดินหน้าคัดค้านโครงการนี้ให้ถึงที่สุด โดยในเร็วๆ นี้พวกตนจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะทำงานบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่อำเภอทุ่งสงและลุ่มน้ำวังหีบ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีนายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้เสนอผลการศึกษาให้ ชะลอการก่อสร้างโครงการอ่างวังหีบออกไปก่อน เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่ชัดเจนว่าจำเป็นต้องมีโครงการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ทำให้ความต้องการใช้น้ำและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการน้ำเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อาจไม่ใช่คำตอบเดียว นอกจากนี้ กรมชลประทานยังไม่สามารถนำเสนอทางเลือกการบริหารจัดการน้ำ (ที่ไม่ใช่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่) ให้แก่ราษฎรได้ และยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบเป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง สร้างเขื่อนกั้นคลองวังหีบ ดำเนินงานโดยกรมชลประทานซึ่งใช้งบประมาณราว 2.3 พันล้านบาท ใช้ระยะเวลา 6 ปี (2561-2566) และกรมชลประทานได้ให้เหตุผลในการก่อสร้างว่าเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ขณะที่นักการเมืองที่ร่วมผลักดันโครงการบอกกับชาวบ้านว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วมเทศบาลทุ่งสง แต่โครงการนี้ถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ และไม่เห็นด้วยกับเหตุผลดังกล่าวเพราะคลองวังหีบไม่ได้ไหลผ่านอำเภอทุ่งสง จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองทุ่งสง ที่สำคัญคลองสายนี้มีความงดงามทางธรรมชาติเป็นอย่างยิ่งจึงควรที่จะอนุรักษ์และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่า

Advertisement

ทั้งนี้ คณะทำงานชุดดังกล่าวแต่งตั้งโดยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ซึ่งในเวลานั้น ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมชลประทาน โดยนายวิวัฒน์ได้รับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาเหมน-วังหีบ ที่ขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อน เพราะส่งผลกระทบต่อชุมชนและธรรมชาติอย่างรุนแรง จึงได้ตั้งคณะทำงานโดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมเป็นที่ปรึกษา เช่น พล.อ.ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า ศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.สมภพ สุจริต ที่ปรึกษากรมชลประทาน

ข่าวแจ้งว่า คณะทำงานชุดดังกล่าวได้ลงพื้นที่ 3 ครั้ง เพื่อฟังเสียงจากทุกฝ่าย และศึกษาข้อมูลรอบด้าน ซึ่งผลการศึกษาระบุชัดถึงความไม่คุ้มค่าของการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำวังหีบโดยข้อเท็จจริงทางด้านเทคนิคพบว่า อุทกภัยในเขตเทศบาลเมืองทุ่งสงได้รับอิทธิพลโดยตรงจากลุ่มน้ำคลองท่าเลา คลองท่าโลน และคลองท่าแพซึ่งไหลผ่านเมืองเทศบาลทุ่งสง โดยลำน้ำทั้งสามสายไหลไปบรรจบที่บริเวณฝายควนกรดซึ่งขนาดของลำน้ำบริเวณนั้นไม่สามารถรองรับการระบายน้ำปริมาณมากได้ และฝายยังเป็นโครงสร้างขวางการระบายน้ำอีกด้วย สิ่งที่ปรากฏคือฝายควนกรดชำรุดเสียหาย ตลิ่งบริเวณนั้นถูกน้ำกัดเซาะพังทลาย และน้ำปริมาณมากที่ระบายไม่ทันได้ไหลกลับขึ้นไป ทำให้เกิดอุทกภัยในเทศบาลทุ่งสง สำหรับน้ำจากคลองวังหีบนั้น ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของอุทกภัยเทศบาลทุ่งสง

ขณะที่ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์นั้น พบว่าความคุ้มค่าบนเงื่อนไขที่ผันน้ำจากอ่างวังหีบไปผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคสาขาทุ่งสง เป็นการผันน้ำข้ามสามลุ่มน้ำย่อย ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักวิชาการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งเป็นการผลักภาระการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนให้กรมชลประทานและมีผลต่อค่าก่อสร้างระบบส่งน้ำเป็นระยะทางไกล

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของคณะทำงานอย่างไม่เป็นทางการ ได้ถูกหยิบยกมาหารือในกลุ่มผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ก่อนที่ผลการศึกษาอย่างเป็นทางการจะถูกนำเสนอไปยังนายวิวัฒน์ในวันที่ 7 พฤศจิกายน และได้มีการรายงานไปถึงพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ ให้ทราบ ปรากฏว่าได้มีคำสั่งจากนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ดึงงานของกรมชลประทานกลับไปดูแลเอง และกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบต่อซึ่งขัดแย้งกับข้อสรุปของคณะทำงาน อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า วันที่ 9 พฤศจิกายน จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการวังหีบขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image