สธ.เร่งออกประกาศ 5 ฉบับ ป้องกันโรคติดต่ออันตรายข้ามแดน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 3 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุบัญญัติ 5 ฉบับ โดย 3 ฉบับแรก เป็นการดำเนินการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันควบคุมโรคติดต่อไม่ให้เข้าสู่ประเทศ ได้เห็นชอบในหลักการ ให้นำไปปรับปรุงรายละเอียดและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ได้แก่ 1.(ร่าง) กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมพาหนะแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ ที่พาหนะ จะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. … โดยให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมพาหนะที่มาจากพื้นที่ที่เป็นเขตโรคระบาด แจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ที่พาหนะนั้นจะมาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทั้ง 68 ด่าน แจ้งได้ทั้งทางหนังสือ โทรสาร ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์(อีเมล์) หรือวิธีการอื่นที่กรมควบคุมโรคประกาศเพิ่มเติม ทางอากาศและทางน้ำแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชม. ส่วนทางบกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1ชั่วโมง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า 2.(ร่าง) กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. … โดยเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตรวจสอบเอกสาร และตรวจตราพาหนะ ผู้เดินทาง สิ่งของ หรือสัตว์ที่มากับพาหนะ หากพบว่าอาจมีสิ่งอันตรายต่อสุขภาพประชาชน จะต้องแก้ไขปรับปรุงและให้เจ้าหน้าที่ด่านฯพิจารณาอีกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อ 3.(ร่าง) กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการห้ามเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะนำผู้เดินทางซึ่งไม่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. … โดยให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมพาหนะฯ ตรวจสอบเอกสารรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศก่อนขึ้นพาหนะ พร้อมแจ้งรายชื่อมาที่ด่านตามแบบฟอร์มที่กำหนด หากตรวจพบว่ามีคนที่ไม่ได้รับวัคซีนจะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศไทย และให้เจ้าของพาหนะพากลับ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการนำโรคติดต่อที่ไม่มีในประเทศไทยเข้ามา

“ส่วนอนุบัญญัติอีก 2 ฉบับเป็นการกำหนดแนวทางการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดในประเทศไทย คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบในหลักการ และมอบกรมควบคุมโรคนำไปปรับปรุงตามคำแนะนำให้สมบูรณ์ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามต่อไป ได้แก่ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสอบสวนโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด พ.ศ. … กำหนดการสอบสวนโรคติดต่ออันตราย 12 โรคที่ไม่พบในไทย เช่น อีโบลา เมอร์ส ให้เจ้าพนักงานฯลงสอบสวนโรคภายใน 6 ชั่วโมง โรคระบาดสอบสวนภายใน 48 ชั่วโมง และการประกาศพื้นที่โรคระบาดให้สอบสวนโรคทันทีที่ทราบประกาศ พร้อมทั้งรายงานผลต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. และกรมควบคุมโรค และ(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการหรือออกคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. …” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image