กรมอุทยานฯรับคำร้อง’เหี้ยอาละวาดหนัก’ เตรียมทำแผนสัตว์4ตัว’จัดการรัดกุม’

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯให้ความสำคัญในการจัดการสัตว์ป่าทุกตัว แต่ขณะนี้ได้ทำแผนปฏิบัติการจัดการสัตว์สำคัญขึ้นมา 4 ฉบับ สำหรับสัตว์ 4 ตัว คือ แผนบริหารจัดการเสือ ลิง ช้าง และเหี้ย โดยเสือนั้นถือว่าสำคัญเพราะเป็นสัตว์ที่อยู่บนยอดของห่วงโซ่อาหาร เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของป่า ประเทศไทยต้องเพิ่มประชากรเสือให้ได้ 50% ของปริมาณที่มีอยู่เดิม ในปี 2548 คือ ต้องเพิ่มให้ได้ราว 200-250 ในอีกประมาณ 5 ปี ข้างหน้าในป่าธรรมชาติทั่วประเทศ ส่วนลิง ช้าง และตัวเหี้ยนั้นเป็นสัตว์ที่มีปัญหาในหลายพื้นที่ บางพื้นที่มีประชากรของสัตว์เหล่านี้มากเกินไป โดยเฉพาะ ลิง ช้าง และตัวเหี้ย จนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวนั้นจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามาหารือเพื่อร่วมกันหาแนวทาง ทั้งนักวิชาการและเอ็นจีโอ

“สำหรับแผนปฏิบัติการบริหารจัดการตัวเหี้ยนั้น เพิ่งจะมีล่าสุด เพราะที่ผ่านมากรมอุทยานฯได้รับการร้องเรียนอย่างมาก ตัวเหี้ยออกอาละวาดเข้าไปกินสัตว์เลี้ยงและเข้าไปหลบในบ้าน สร้างความหวาดกลัวและเป็นที่รังเกียจแก่ผู้พบเห็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ จ.สมุทรสาคร เวลานี้ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด เจ้าหน้าที่ต้องออกปฏิบัติการเกือบทุกวัน เราจึงต้องทำแผนเพื่อจัดการสัตว์ตัวนี้ด้วย โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมหารือที่กรมอุทยานฯเร็วๆ นี้” นายธัญญากล่าว

นายสมพงษ์ กลั่นภักดี กำนันตำบลนางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่าตนเลี้ยงปลากระพง 2 บ่อกว่า 30.000 ตัวในพื้นที่หมู่ 6 ได้รับความเดือดร้อนจากตัวเหี้ยที่มากินปลาที่ตนเลี้ยงไว้เกือบหมดบ่อ นอกจากนี้ยังแย่งอาหารปลากินอีก และยังแพร่เชื้อโรคต่างๆลงสู่บ่อ ตนต้องเสียค่าใช้จ่ายค่ายามารักษาปลาของตน ทำให้เสียรายได้จำนวนมาก ขณะที่ลูกบ้านของตนทั้ง 7 หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน โดยเฉพาะเกษตรกรที่เลี้ยงปลานิลตามร่องสวนจะถูกตัวเงินตัวทองกินจนหมดบ่อ ชาวบ้านจะฆ่าทิ้งก็ไม่กล้าเพราะตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์อนุรักษ์ จึงต้องลงทุนซื้อตาข่ายมาขึงปิดปากบ่อเพื่อป้องกันตัวเงินตัวทองลงบ่อ แต่ก็ช่วยไม่ได้มากเพราะตัวเหี้ยที่ใหญ่ๆจะกัดตาข่ายขาดหมด

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเกือบ 10 ปีมาแล้ว จังหวัดได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจับตัวเงินตัวทองในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยเฉพาะตำบลนางตะเคียนตนและลูกบ้านจับได้กว่า 400 ตัว ส่งมอบให้หน่วยงานดังกล่าวปล่อยสู่ธรรมชาติทำให้ตัวเงินตัวทองลดน้อยลง แต่ปัจจุบันตัวเหี้ยกลับมาขยายพันธุ์ชุกชุมอีกจึงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยจับ ออกไปนอกพื้นที่อีกครั้ง หรือไม่ก็ขอให้แก้กฎหมายให้ตัวเหี้ยเป็นสัตว์เศรษฐกิจเหมือนจระเข้ที่สามารถเพาะพันธ์จำหน่ายได้

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image