อธิบดีรับเมืองน่านวิกฤตจริง เต็มไปด้วยเขาหัวโล้น ป่าหายปีละ 7 หมื่นไร่

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 102.4 ล้านไร่ โดยรัฐบาลในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองพื้นที่ป่าอย่างเข้มข้น แสดงถึงความจริงจังในการขอคืนพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่ป่าในจังหวัดน่าน จากการสำรวจในปี 2545 พบว่าน่านมีพื้นที่ป่า 5.67 ล้านไร่ กระทั่งในปี 2557 เหลือพื้นที่ป่า 4.65 ล้านไร่ เฉลี่ยลดลงปีละ 70,000 ไร่ แต่จากนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาไม่มีพื้นที่ป่าไม้ลดลงแต่อย่างใด และยังมีการปลูกฟื้นฟูป่าเพิ่มเติม

อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวอีกว่า ในจังหวัดน่านมีพื้นที่ป่าที่อยู่ในความดูแลของรัฐประมาณ 6.4 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 4 แสนไร่ เขตอุทยานแห่งชาติ จำนวน 2.7 ล้านไร่ และป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้ จำนวน 3.3 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนพื้นที่ป่าทั้งหมดนี้มีการแปลงสภาพไปแล้วประมาณ 1 ล้านไร่ การบุกรุกพื้นที่ป่าน่านจนเหลือเป็นภูเขาหัวโล้นนั้น ปัจจัยหลักที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลงมาจากการขยายพื้นที่การเกษตร และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอัตรากำลังเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าที่ต้องดูแล กรมป่าไม้มีหน่วยป้องกันรักษาป่าเพียง 21 หน่วย เฉลี่ย 1 หน่วยต้องดูแลพื้นที่ป่า 1.57 แสนไร่ อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาของ ทส.จะเริ่มจากการทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากพื้นที่ป่าที่ถูกครอบครองมาเป็นระยะเวลายาวนานนั้น อาจมีเหตุผลความจำเป็นที่หลากหลาย มีทั้งราษฎรที่ไร้ที่ทำกินและกลุ่มนายทุน การพูดคุยกับประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของกระบวนการคัดกรองคนออกจากพื้นที่ป่า ซึ่งขณะนี้ได้ยึดคืนพื้นที่ป่าน่านจากกลุ่มนายทุนแล้วประมาณ 2 หมื่นไร่ รวมทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่ต่อปี โดยที่ดินที่ยึดคืนมาจะนำมาปลูกฟื้นฟูป่า

“ในปี 2559 กรมป่าไม้ได้วางเป้าการปลูกป่าในพื้นที่จังหวัดน่านจำนวน 6,000 ไร่ โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งขณะนี้มีกระแสของดารา-นักแสดงและประชาชนที่ให้ความสนใจร่วมกันปลูกป่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี โดยกรมป่าไม้จะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนพันธุ์กล้าไม้ เน้นไม้ประจำถิ่น หากประชาชนต้องการที่จะร่วมปลูกป่าควรขออนุญาตหรือพูดคุยกับกรมป่าไม้ก่อน” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image