กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยันแก้ปัญหาถือครองที่ดิน ไม่ใช่เฉือนป่าอนุรักษ์ แต่ให้ชาวบ้านอยู่กับป่าได้

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยันตัวเลขป่าอนุรักษ์ 5.9 ล้านไร่ แค่สำรวจจากภาพถ่ายดาวเทียม แต่อยู่จริงไม่ถึง เหตุมีขั้นตอน เงื่อนไขอีกมาก ดีเดย์! หลังปีใหม่รู้พิกัดทั่วปท.

ป่าอนุรักษ์-เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม นายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินและชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดิน ภายใต้นโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่เห็นชอบให้ราษฎรอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าเป้าหมาย 5 กลุ่ม ว่า ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ นั้น ถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่อนุญาตให้ราษฎรอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ภายใต้เงื่อนไขการอยู่อย่างเกื้อกูลธรรมชาติ ซึ่งจะมีการแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504

นายวีระยุทธ กล่าวว่า จากการสำรวจภาพถ่ายดาวเทียมในปี 2557 พบว่ามีราษฎรครอบครองที่ดินประมาณ 5.9 ล้านไร่ โดยครอบครองก่อนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 มิถุนยายน 2541 จำนวน 3.6 ล้านไร่ และครอบครองหลังมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนยายน 2541 อีก 2.3 ล้านไร่ แต่ไม่ได้หมายความว่าการอนุญาตครั้งนี้จะดำเนินการทั้ง 5.9 ล้านไร่

“ยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นการแจกป่า หรือเฉือนป่าอนุรักษ์ให้ชาวบ้าน แต่ต้องการทำให้ชาวบ้านอยู่กับป่า เพื่อลดความขัดแย้ง และไม่ใช่ว่าจะให้อยู่ได้ทั้งหมด 5.9 ล้านไร่ หากพื้นที่ใดตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย มีความพร้อมก็ให้อยู่ได้ แต่จะไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ ซึ่งตัวเลขไม่ถึง 5.9 ล้านไร่แน่นอน และจะไม่ขยายวงพื้นที่กว้างไปกว่านี้แล้ว ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่ที่มีราษฎรครอบครองที่ดินหรือมีร่องรอยการอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนจำนวน 5.9 ล้านไร่ พบว่าในปัจจุบันบางพื้นที่ถูกแผ้วถางเป็นพื้นที่รกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ต้องขอคืนให้รัฐ”

“เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ครม.มีมติเห็นชอบในแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทํากินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภทในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ นั้น ยืนยันว่ามีหลักการจัดการที่ดินที่ชัดเจน ชุมชนที่จะได้รับการพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลภายนอก มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินและยอมรับร่วมกัน ซึ่งจะให้เป็นสิทธิทำกิน ไม่ได้ให้เอกสารสิทธิแต่อย่างใด ส่วนชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เปราะบางทางธรรมชาติ หรือพื้นที่ล่อแหลมถูกคุกคาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาทางภาคเหนือ ต้องดูว่าการทำกินแบบเดิมกระทบต่อระบบนิเวศหรือไม่ หากมีผลกระทบ ต้องให้ชุมชนปรับตัวในเรื่องทำกิน หรืออาจต้องย้ายออกเพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่เปราะบาง ให้อยู่ได้เท่าที่จำเป็น แบบเกื้อกูลธรรมชาติ และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญต้องอยู่อาศัยและทำกินภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน” นายวีระยุทธ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้สามารถระบุพิกัดได้หรือไม่ว่าเป็นพื้นที่บริเวณใด หรือจุดใดของประเทศไทย นายวีระยุทธ กล่าวว่า วันนี้ยังระบุจุดที่ชัดเจนไม่ได้ จะต้องลงไปสำรวจพื้นที่ ตรวจสอบกันอย่างละเอียด และเจรจาตกลงกับชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ ก่อน หากเจรจากันได้ลงตัวจึงจะประกาศไปพื้นที่ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองทำในพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง คือ แม่ฮ่องสอนโมเดล และนาแห้ว โมเดล จ.เลย ซึ่งพบว่าได้ผลดี ชาวบ้านทำตามเงื่อนไข สำหรับพื้นที่อื่นๆ นั้น หลังปีใหม่ 2562 จะเริ่มกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ออกสำรวจพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image