เกษตรกรไทย 32% เสี่ยงพิษสารเคมี รุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง สธ.แนะ’อ่าน-ใส่-ถอด-ทิ้ง’

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มเกษตรกรที่มีถึง 11.9 ล้านคน มีปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ อันตรายจากการใช้สารเคมีการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตหรือกำจัดศัตรูพืช โดยผลการตรวจคัดกรองความเสี่ยงกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศในปี 2558 จำนวน 341,039 คน พบว่ามีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชถึงร้อยละ 32 และข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ. พบว่าในรอบ 5 ปี มีผู้ป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มสูงขึ้น 4 เท่าตัว จากปี 2553 ที่พบผู้ป่วย 1,851 ราย เพิ่มเป็น 7,954 ราย ในปี 2557 ผู้ป่วยมากสุดที่ จ.หนองบัวลำภู

“สธ.มีนโยบายป้องกันผลกระทบสุขภาพเกษตรกรทั่วประเทศ ได้พัฒนารูปแบบการจัดระบบบริการดูแลสุขภาพเกษตรกร โดยจัดตั้งคลินิกสุขภาพเกษตรกร ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาตั้งแต่ ปี 2554 และในปี 2559 ได้พัฒนาเป็นการจัดบริการอาชีวอนามัยให้กับแรงงานในชุมชน ให้การดูแลอย่างครบวงจร ต่อเนื่อง ทั้งประเมินและตรวจคัดกรองความเสี่ยง ให้การรักษาพยาบาลโรคจากการทำงานเบื้องต้นและการส่งต่อ รวมทั้งทำงานเชิงรุก เช่น สำรวจสภาพแวดล้อมและการประเมินความเสี่ยงในการทำงาน ให้คำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของเกษตรกร ประสานกับผู้นำชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี ขณะนี้เปิดบริการแล้ว 3,333 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 33 ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ 40 ของ รพ.สต.ทั้งประเทศ ในปี 2559 พร้อมเร่งขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรทุกแห่ง” นพ.ปิยะสกลกล่าว

ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มเกษตรกร หากพบว่ามีความเสี่ยงจะให้คำแนะนำการใช้สารเคมีที่ปลอดภัยอย่างทันท่วงที ไม่รอให้มีอาการป่วยก่อน ซึ่งผลกระทบจากใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีทั้งระยะเฉียบพลัน คือ แสบตา แสบมือ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ท้องเสีย แน่นหน้าอก หายใจขัด ส่วนผลระยะยาว ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคผิวหนังเรื้อรัง อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นหมันหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

“ในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัยมีหลัก 4 ข้อง่ายๆ คือ อ่าน-ใส่-ถอด-ทิ้ง คือ 1.อ่านฉลากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก่อนใช้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 2.ใส่อุปกรณ์ ป้องกันอันตรายจากสารเคมีขณะทำงาน เช่น เสื้อผ้ามิดชิดรัดกุม หน้ากาก ถุงมือ 3.ถอดชุดและอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ขณะฉีดพ่นหรือทำงาน แยกซักจากเสื้อผ้าอื่นๆ แล้วรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และ 4.ทิ้งผลิตภัณฑ์บรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ถูกต้อง คัดแยกออกจากขยะทั่วไป ให้อยู่ในกลุ่มขยะอันตราย ทิ้งให้ห่างไกลจากแหล่งน้ำป้องกันการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม” นพ.อำนวยกล่าว และว่า นอกจากนี้ในการป้องกันอันตรายจากการทำงานอื่นๆ ที่พบมาก เช่น บาดเจ็บกล้ามเนื้อและข้อจากการออกแรงทำงาน หรืออยู่ในท่าซ้ำๆ ตลอดทั้งวันจนกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดบวม แนะนำว่าไม่ควรออกแรงยก ผลัก เข็น ลากเกินกำลัง หากสิ่งของมีน้ำหนักมากขอให้ใช้เครื่องมือหรือคนอื่นช่วย และฝึกยกของด้วยท่าที่ถูกต้อง โดยย่อตัว ให้สิ่งของแนบชิดลำตัวและให้กำลังขาดันตัวขึ้น ไม่ก้มงอหลังแล้วเงยขึ้นขณะยกของ ควรเปลี่ยนอิริยาบถเมื่อต้องทำงานท่าใดท่าหนึ่งนานๆ และทำกายบริหารเพิ่มความยืดหยุ่น ลดความเมื่อยล้าของร่างกายได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image