นักวิชาการแนะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ดึงแรงงานเข้าระบบแก้ปัญหาขาดกำลังคน

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงข้อเสนอขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ที่เสนอให้ไทยขยายอายุเกษียณของแรงงานในระบบ ว่า ปัจจุบันแรงงานในระบบของไทยยังทำงานได้ไม่ครบตามอายุเกษียณที่กำหนดไว้ 55 ปี เนื่องจากงานของไทยส่วนใหญ่เป็นงานประกอบที่ต้องใช้กำลังแรงงาน ดังนั้นแรงงานจำนวนมากจึงเกิดความเหนื่อยล้า โดยพบว่าในสถานประกอบการขนาดใหญ่จำนวนมาก แรงงานจะเกษียณเมื่ออายุ 50 ปี เท่านั้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งการผลิต

“หากสามารถทำให้แรงงานกลุ่มนี้ยังทำงานในระบบต่อ อุตสาหกรรมก็จะมีกำลังแรงงานส่วนนี้นับแสนคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วย แต่จะต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อจูงใจให้แรงงานยังทำงานในระบบต่อได้ ส่วนการขยายอายุเกษียณอาจกระทบกับสถานประกอบการที่ไม่มีต้นทุนรองรับการจ้างแรงงานที่สูงอายุ เพราะแรงงานเหล่านี้จะมีระดับเงินเดือนที่สูง เนื่องจากทำงานมานาน สถานประกอบการอาจต้องการนำเงินเดือนที่จ้างแรงงานสูงอายุไปจ้างแรงงานจบใหม่ได้อีกจำนวนมากแทน” นายยงยุทธ กล่าวและว่า จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าไทยสามารถขยายอายุเกษียณได้ และการขยายอายุเกษียณก็ต้องมีการขยายอายุเกษียณของกองทุนประกันสังคมออกไปด้วย ซึ่งมีข้อดีคือ จะทำให้กองทุนมีความมั่นคง เช่น ขยายอายุเกษียณ 5 ปี จะทำให้กองทุนประกันสังคมมั่นคงไปได้อีก 10 ปี เพราะการที่แรงงานยังอยู่ในระบบจะยังไม่มีเงินออกจากกองทุน ส่วนแนวคิดการเพิ่มเงินสมทบกรณีชราภาพนั้น มองว่าหากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีการบริหารจัดการการลงทุนโดยมืออาชีพที่แท้จริงก็จะทำให้เกิดดอกผลได้มากมายเพราะเงินลงทุนมีจำนวนที่สูงมาก และนำดอกผลตรงนั้นมาเพิ่มสิทธิประโยชน์โดยที่ไม่ต้องเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนเพิ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image