เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพฯ-สปสช.ดัน ‘ยาอดบุหรี่’ เข้าบัญชียาหลักฯให้บัตรทองใช้สิทธิ

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เปิดเผยว่า จากการสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2557 พบว่ามีจำนวนถึง 11.4 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้นการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากบุหรี่เพิ่มขึ้น รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ดังนั้นการสนับสนุนการเลิกบุหรี่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรวิชาชีพสุขภาพ 21 องค์กร จึงได้ผลักดันให้เกิดกระบวนการเลิกบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ

พญ.สมศรี กล่าวว่า นอกจากโครงการจัดตั้งศูนย์อบรมผู้นำการส่งเสริมการเลิกและบำบัดผู้เสพยาสูบแล้ว การสนับสนุนยาอดบุหรี่ให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยังเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรสุขภาพที่ทำงานด้านบุหรี่ แต่ที่ผ่านมา ยาอดบุหรี่ยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะนี้เครือข่ายองค์กรวิชาชีพสุขภาพฯ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงอยู่ระหว่างผลักดันยาอดบุหรี่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อที่ สปสช.จะบรรจุสิทธิประโยชน์เบิกจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ สำหรับค่าใช้จ่ายยาอดบุหรี่เฉลี่ย 3,000-4,000 บาทต่อราย ถือว่าเป็นจำนวนเงินไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับผลที่ได้รับนับว่าคุ้มค่ามาก

“มีผู้ป่วยที่สามารถเลิกบุหรี่ได้โดยไม่ต้องใช้ยา เพียงแต่ใช้วิธีการชักจูง แต่มีผู้ป่วยบางรายที่ติดบุหรี่มากจนเลิกเองไม่ได้และจำเป็นต้องใช้ยาอดบุหรี่ช่วย ซึ่งมีอยู่เพียงร้อยละ 2.4 ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางคนมีรายได้ไม่มาก จึงไม่มีเงินพอที่จะซื้อยาอดบุหรี่ได้” พญ.สมศรี กล่าวและว่า ในการเริ่มสิทธิประโยชน์ยาอดบุหรี่อาจเริ่มในผู้ป่วยบางโรคก่อน เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน

ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขณะเดียวกัน คณะทำงานวิชาการอยู่ระหว่างยกร่างแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องอดบุหรี่ควบคู่ ทั้งนี้เพื่อรองรับการบรรจุยาอดบุหรี่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากนี้ สปสช.ยังได้ขยายงานคลินิกอดบุหรี่ในหน่วยบริการ โดยเชื่อมโยงลงไปยังชุมชนและท้องถิ่นผ่านกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่นด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image