เหยี่ยวถลาลม : วันเด็กแบบไทยๆ

วันเด็กทุกปี เป็นประเพณีที่นายกรัฐมนตรีในทุกสมัยจะมอบ “คำขวัญวันเด็ก” ซึ่งเปรียบเสมือนการชักชวนหรือชี้นำให้เด็กได้คิด ได้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งนั้นโดยหวังว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญที่มีคุณภาพของประเทศชาติ ในภายภาคหน้า

สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ.2499 ให้คำขวัญว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม”

พอถึงสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ปฏิวัติยึดอำนาจจากจอมพล ป. ทุกปีจอมพลสฤษดิ์จงใจให้คำขวัญด้วยการใช้คำว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า” เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ซึ่งถือว่ามีลักษณะเฉพาะและแปลกดีเช่น ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้าจงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า ในปีต่อมา ก็ใช้คำเดิมเพียงแต่เปลี่ยนเป็น …จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด, จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย, จงเป็นเด็กที่ประหยัด หรือจงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด คำขวัญวันเด็กยุคสฤษดิ์สั้น ง่าย จับต้องได้

สังเกตจากคำขวัญวันเด็กที่นายกรัฐมนตรีไทยประกาศทุกปีแล้วสามารถจะกล่าวได้ว่า สังคมไทยตั้งความหวังกับเด็กและเยาวชนเอาไว้พอสมคสร

Advertisement

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้ใหญ่คิดกับเรื่องเด็กและเยาวชนอย่างจริงจังแค่ไหน เนื่องจาก “พฤติกรรม” ของผู้ใหญ่ในแต่ละวันมักไม่สามารถเป็น “ตัวอย่างที่ดี” ให้กับเด็กและเยาวชนได้ เช่น การพูดจาหยาบคาย ด่าทอ ใช้อารมณ์นำเหตุผล โกหก ตลบตะแลง กลับกลอก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หาความแน่นอนไม่ได้ ใช้อำนาจเข้าข่มขู่คุกคาม ไม่เน้นความยุติธรรม ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา แต่เน้นการเอาเปรียบ เอาตัวรอด แย่งชิงผลประโยชน์ ไม่รักษาคำพูด

ในทางปฏิบัติวันเด็กของไทยมักมีกิจกรรมให้ความเพลิดเพลิน กับมีคำขวัญที่เป็นเหมือน “พิธีกรรม” เช่นเดียวกับเทศกาลอื่นๆ ในขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมีมากมาย และหมักหมม ไม่ได้รับการดูแลแก้ไขให้ถูกทางอย่างจริงจัง

นายกรัฐมนตรีที่เคารพทุกท่านมอบ “คำขวัญวันเด็ก” กันมาจนชินชาและเป็นธรรมเนียม แต่ลองนึกย้อนทบทวนบ้างหรือไม่ว่า หลังจากสิ้นเสียงประกาศ “คำขวัญ” มีอะไรเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลง
คำขวัญวันเด็กเหมือนสายลมที่พัดผ่าน ไม่ได้ถูกนำไปใช้ หรือปฏิบัติเพราะอะไร !?!!!

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image