เหยี่ยวถลาลม : คำว่า‘ล้ำเส้น’ 18ม.ค.61

คํานี้ ใช่ว่าใครจะพูดได้เหมือนกันทุกคน ในบริบทของสังคมไทย คนที่พูดคำนี้ได้ ต้องเป็นผู้ใหญ่กว่า ลืมตาดูโลกก่อน หรือมีความอาวุโสกว่า หรือไม่ก็มีฐานะ มีตำแหน่งทางสังคมที่เหนือกว่าคนฟัง

เคยมีหรือไม่ที่เด็กกว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้องบอกกับเจ้านายว่า “อย่าล้ำเส้น”

ใหญ่กว่า มีอำนาจเหนือกว่า ถึงจะพูดคำนี้ได้

ที่จริงการที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.พูดคำนี้ออกมานั้นก็ใช่ว่าจู่ๆ โพล่งออกมา

Advertisement

เรื่องมันมีที่มา อย่าติเรือทั้งโกลน ต้องฟังให้สิ้นกระแสความ

เมื่อมีผู้สื่อข่าวไปถามว่า “คิดอย่างไรที่ถูกวิจารณ์ว่า ผบ.ทบ.มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ชุมนุม” พล.อ.อภิรัชต์ก็ตอบว่า “ผมมีทัศนคติดี และมีประสบการณ์อยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมมาหลายปี พอจะอ่านเกมออก จะไม่ตอบโต้ แต่จะทำหน้าที่รักษาความมั่นคงอย่างตรงไปตรงมา หากทุกคนไม่ล้ำเส้นอยู่ในกรอบ อยู่ในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ว่ากัน”

“เรื่อง ‘ล้ำเส้น’ นี้ ยังมีข้อความที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ พล.อ.อภิรัชต์บอกว่า เมื่อท่าน (ไม่รู้ใคร) มาขีดเส้นไว้ว่า คนนี้ต้องทำอย่างนั้น ท่านต้องขีดเส้นตัวเองด้วย ไม่ใช่มาขีดเส้นให้คนโน้นคนนี้เดินอย่างเดียว อย่ามาล้ำเส้นกัน”

Advertisement

ไม่รู้ ผบ.ทบ.ตั้งใจจะว่าใคร กลุ่มใด แต่ขอตีความในทาง “เป็นคุณ” ว่า ท่านตั้งใจจะปฏิบัติหน้าที่ในกรอบของ “ทหารอาชีพ” ไม่ใช่ “ทหารรับใช้” พร้อมกันนั้นก็บอกกล่าวกับกลุ่มอื่นๆ ว่า ทุกคนทุกฝ่ายแต่มี “เส้น” ของความควร-ไม่ควร อย่าล้ำเส้นกันนะ

ในระบอบประชาธิปไตยมี “เส้น” กำหนด “อำนาจ” และ “หน้าที่” ของแต่ละสถาบันหลักทางการปกครององค์กรของรัฐ องค์กรอิสระ หน่วยย่อยในสังคม ไปจนถึง “ความเป็นพลเมือง”

ไม่ว่าเรื่องช่วงชิงชัยชนะทางการเมือง หรือการเปลี่ยนถ่ายอำนาจก็มี “เส้น” กำกับเอาไว้

ที่ ผบ.ทบ.ท่านไม่ได้พูดถึงคือ เพราะ “ล้ำเส้น” ประเทศของเราถึงได้เดินมาถึงจุดนี้

การปลุกระดมมวลชน ยกระดับการชุมนุม การปิด การยึดสถานที่ราชการ ปิดบ้าน
ปิดเมือง ปิดกรุงเทพฯ จนจบที่ 22 พ.ค.57

ทั้งหมดคือ การล้ำเส้น !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image