มูลนิธิอิสรชน เปิดสถิติคนเร่ร่อน-หญิงขายบริการในกรุงเทพฯ เพิ่ม!

มูลนิธิอิสรชน เปิดสถิติคนเร่ร่อน-หญิงขายบริการในกรุงเทพฯ เพิ่ม!

สถิติคนเร่ร่อน 2561 – เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ตรอกสาเก เขตพระนคร กรุงเทพฯ นางสาวอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า มูลนิธิอิสรชนได้สำรวจข้อมูล ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2561 มีจำนวน 3,993 คน แยกเป็นชาย 2,424 คน หญิง 1,569 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 363 คน หรือราวร้อยละ 10

โดยเขตที่พบมากที่สุดคือ เขตพระนคร จำนวน 687 คน รองลงมาเขตบางซื่อ 302 คน เขตจตุจักร 277 คน เขตปทุมวัน 224 และเขตสัมพันธวงศ์ 204 คนตามลำดับ

ตรอกสาเก

ทั้งนี้ แม้สถิติจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10 ซึ่งถือว่าไม่มาก แต่ภาพปัญหาชัดเจนมากขึ้น การจัดระเบียบเมืองแม้จะช่วยให้คนเร่ร่อนหายไปจากพื้นที่เดิม เช่น พาหุรัด สนามหลวง คลองหลอด แต่ไปกระจัดกระจายสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสุขุมวิทและอ่อนนุช ขณะเดียวกันยังพบกลุ่มผู้สูงอายุป่วยและผู้ป่วยทางจิตเพิ่มออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากขึ้น เนื่องจากถูกผลักออกจากครอบครัว รวมถึงพนักงานขายบริการอิสระ ที่พบว่าเป็นสาวโรงงานมาทำมากขึ้น เนื่องจากโรงงานปิดตัวและปัญหาเศรษฐกิจ และพบมากในย่านถนนราชดำเนิน

Advertisement
นางสาวอัจฉรา สรวารี

นางสาวอัจฉรา กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดระเบียบคนเร่ร่อนในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่แท้จริง คือเมื่อจัดระเบียบแต่ละครั้งก็กวาดจับคนเหล่านี้ไปอยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งดูแลและให้บริการทั้งคนเร่ร่อน ผู้ป่วยทางจิต ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย จนแออัด อีกทั้งเป็นการดูแลเพียงชั่วคราว อาทิ การฝึกอาชีพ พอสิ้นสุดกระบวนการ 15 วัน คนเหล่านี้จะไปทำอะไรเมื่อไม่มีเงินทุน ไม่มีตลาดรองรับ สุดท้ายก็กลับเข้าสู่วัฏจักรคนเร่ร่อน

นอกจากนี้หน่วยงานภายในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีการแบ่งกรมดูแลกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ก็ขาดการประสานงานและส่งต่อภายในยังไม่ชัดเจน มีการอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุจะดูแลผู้สูงอายุในชุมชน แต่หากอยู่นอกชุมชนก็ดูเหมือนว่าไม่ใช่หน้าที่

อย่างไรก็ดี มูลนิธิมีข้อเสนอว่า ควรส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลกันเอง หรือบางชุมชนอาจจัดหาพื้นที่ว่างให้คนเร่ร่อนมารับการฝึกอาชีพ แล้วให้กรมการจัดหางานเข้ามาคัดกรองคนที่มีศักยภาพสามารถทำงานได้ เพื่อส่งต่อแหล่งงานรองรับ ส่วนคนที่ป่วยก็ประสานหน่วยงานรับผิดชอบไปดูแลรักษา ตลอดจนการให้สวัสดิการครอบครัวที่ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันผู้สูงอายุถูกผลักออกจากครอบครัว

Advertisement

ด้าน ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า หากต้องการทำให้คนเร่อนหมดไปสามารถทำได้ไม่ยาก ขอเพียงให้กรุงเทพมหานคร (กทม.)สนับสนุนงบประมาณมาดูแลและพัฒนาคนเร่ร่อนคนละ 500 บาทต่อวัน แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่พักอาศัย การพัฒนาอาชีพ การจัดหางาน เพื่อให้เขาสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองด้วยอาชีพและรายได้

ซึ่งกับยอดคนเร่ร่อนประมาณ 4,000 คน ใช้งบประมาณเพียง 730 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของงบประมาณแผ่นดินของกทม.

ดร.โสภณ พรโชคชัย (ซ้าย)

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม

คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image