อดีตทนายคลองด่านชี้ การเมืองแทรก ทำรัฐแพ้ แนะฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายหักลบกลบหนี้เอกชน

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ มูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ ร่วมหาทางออกกรณีค่าโง่คลองด่าน-หยุดความเสียหายของชาติ” โดยนายอภิชัย ชวเจริญพันธุ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ตนเข้ามารับตำแหน่งอธิบดี คพ. เมื่อปี 2546 ทันทีที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติแต่งตั้ง นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพยากรฯ ได้มีบันทึกข้อความสั่งการให้พิจารณาข้อสรุปจากคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านที่นายประพัฒน์ตั้งขึ้น หลังจากมีกรณีร้องเรียนทุจริตในโครงการดังกล่าวหลายกรณี โดยข้อสรุปของคณะกรรมการฯ คือบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ถอนตัวออกจากกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีไปก่อนวันเซ็นสัญญาโครงการ ควรให้ คพ.ทำหนังสือแจ้งไปยังกิจการร่วมค้าฯ ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ

“การมารับตำแหน่งเพียงหนึ่งวันของผมเป็นเรื่องเหนื่อย ที่ต้องไปยกเลิกสัญญา 2.3 หมื่นล้านบาทกับเอกชน ผมได้ขอพบนายประพัฒน์เพื่อขอทราบรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งได้รับการชี้แจงว่ามีการร้องเรียนจากภาคส่วนต่างๆ การตรวจสอบทั้งจาก ส.ส. ส.ว. อีกทั้งกิจการร่วมค้าฯ ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการโครงการที่คืบหน้าไปแล้ว 98% ได้ และมีการเยียวยาด้วยการต่อสัญญาไปแล้วในระยะแรกๆ แต่หลังจากนั้นเขาก็ยังเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ไม่ได้ มีการเรียกร้องค่าเสียหายเกิดขึ้น เป็นค่าโง่ 6,000 กว่าล้านบาทที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเวลานั้น เพราะเราไม่สามารถตรวจรับงานได้แล้วเสร็จ ซึ่งหากจะต้องเสนอต่อ ครม. เพื่อจ่ายเงิน 6,000 ล้านบาทให้เอกชน นายประพัฒน์เห็นว่าจะมีปัญหาแน่จึงต้องคณะกรรมการฯ ขึ้นมาดูเรื่องนี้ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นนักกฎหมาย 5 คน มีเอกสารหลักฐานชัดเจน และมีคำสั่งของรมว.ทรัพยากรฯ เรียบร้อย ผมจะทำอย่างไร ถ้าสมมติผมไม่ทำในวันนั้นก็เท่ากับขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แล้วจะต้องทำอย่างไรกับเงินจำนวน 6,000 ล้านบาทในเวลานั้น รัฐมนตรีทส. คงไม่เสนอต่อครม.เพื่อจ่ายให้กิจการร่วมค้าฯ แน่นอน ดังนั้นผมจึงลงนามในหนังสือถึงกิจการร่วมค้าฯ ว่าสัญญาเป็นโมฆะ” นายอภิชัย กล่าว

นายอภิชัย กล่าวว่า ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรฯกลับมีการตั้งคณะกรรมการเอาผิดทางละเมิดกับพวกตน โดยระบุว่าเราไปยกเลิกทำให้สัญญาเป็นโมฆะ ทำให้รัฐเสียหาย 1 หมื่นล้าน ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งหากสรุปว่าผิดตนก็คงต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหาย 1 หมื่นล้าน ทั้งนี้กลุ่มของตนได้นำคำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อปี 2558 ที่พิจารณาความผิดของข้าราชการที่เกี่ยวข้องออกมาแล้ว ไปยื่นเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ภายใน 90 วัน เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะมีมูลเหตุใหม่เกิดขึ้น เมื่อทส. ไม่ดำเนินการส่งหลักฐานใหม่ เราจึงต้องดำเนินการเอง เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องถูกสอบละเมิดต้องรับผิดชอบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งศาลปกครองก็รับเอกสารไว้ แต่ยังไม่ได้พิจารณาว่ารับคำร้องหรือไม่

ด้านนายณกฤช เศวตนันธน์ อดีตที่ปรึกษากฎหมายและทนายความคดีในคดีอาญากรณีคลองด่าน กล่าวว่า ตนมีบทบาทของตนในฐานะทนายในคดีที่อดีตอธิบดี คพ.ไปฟ้องร้องต่อศาลแขวงดุสิตในคดีฉ้อโกงสัญญาโครงการคลองด่านมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท และฉ้อโกงที่ดินมูลค่า 1,900 ล้านบาท เรากล่าวอ้างว่าถูกหลอกลวงต้องและจ่ายเงินค่าเสียหายคืนให้กรม แต่หลังจากเปลี่ยนรมว.และอธิบดี คพ.คนใหม่ คดีความในรับผิดชอบตนถูกโอนไปให้อัยการสูงสุด และคดีที่ศาลแขวงดุสิตก็ให้สำนักงานทนายความอื่นมาดำเนินการต่อ ซึ่งมีผลเสียต่อรูปคดีเพราะคนที่มาทำงานใหม่ไม่ทราบข้อมูลมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะเรื่องอนุญาโตตุลาการที่ตนปฏิเสธไม่เข้ากระบวนการตั้งแต่แรก เหตุที่เปลี่ยนทนายเพราะเขามีนโยบายเห็นต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำคดีที่จะให้ดำเนินการต่อไป จนทำให้ทิศทางคดีเกิดความเสียหาย

Advertisement

นายณกฤช กล่าวว่า ต่อมาเมื่อศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาในปี 2552 ให้กิจการร่วมค้าฯ มีความผิด แต่ คพ. กลับไม่ดำเนินการฟ้องแพ่งตามมา เท่ากับเป็นนักมวยแต่ไม่ออกหมัด ถ้าฟ้องคดีแพ่งตามมูลค่าความเสียหายคดีฉ้อโกงสัญญา 2.3 ล้านบาท และฉ้อโกงที่ดิน 1,900 ล้านบาทก็จะสามารถหักลบกลบหนี้ได้แล้ว เท่าที่ดูคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ คพ.ไม่ได้มีการนำสืบเรื่องนี้ ถ้าท่านเป็นเจ้าของคดีจะสงสัยหรือไม่ว่าทนายความทำงานอย่างไร เพราะเป็นจุดทำสำคัญที่ทำให้ฝ่ายราชการแพ้อนุญาโตตุลาการตั้งแต่แรก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ควรแพ้ อีกทั้งเมื่อกิจการร่วมค้าฯ นำเรื่องส่งต่อไปยังศาลปกครอง ทาง คพ.ก็ไม่มีการโต้แย้งในเรื่องเขตอำนาจศาลที่ต้องขึ้นกับศาลแพ่ง ตนอยากตั้งข้อสังเกตว่าทำไมศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาที่ตรงกันข้ามกับศาลแขวงดุสิต คพ.คิดจะนำคำพิพากษาของศาลอาญาที่ชนะคดีไปฟ้องแพ่งสักครั้งหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมตรวจสอบไม่ได้ เป็นเรื่องที่ภาคประชาชนต้องกระตุ้นเตือน โดยสรุปหนทางที่จะไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย 1 หมื่นล้านบาทให้เอกชนนั้น อยู่ที่ศาลฎีกาถ้าพิพากษาออกมาเหมือนศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ จะมีผลทางแพ่งทำให้ราชการไมต้องจ่ายเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อยากให้ทาง คพ. และทางราชการรอคำพิพากษาของศาลฎีกา ส่วนที่จ่ายไปแล้ว 4,000 ล้านกว่าบาท ถ้าศาลฎีกาพิพากษาออกมาจะถูกหรือผิดก็ต้องคอยดูและต้องมีคนรับผิดชอบอย่างไร

นางดาวัลย์ จันทรหัสดี แกนนำกลุ่มเรารักคลองด่าน กล่าวว่า เรื่องนี้คนที่ทำผิดไม่ถูกลงโทษ และไม่มีการดำเนินคดีละเมิดกับคนที่เตะถ่วงคดี วันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งติดตามในเรื่องของคดีความ โดยเฉพาะคดีที่มีอายุความ 20 ปี เนื่องจากโครงการมีการเซ็นสัญญาในปี 2540 ดังนั้นคดีความจึงใกล้หมดอายุความแล้ว ถ้าไม่ดำเนินการก็จะเกิดความเสียหายอย่างมาก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้บุคคลที่เคยเป็นเลขา ครม.เมื่อปี 2535 ก็เป็นคนเดียวกับที่บอกว่าจะต้องจ่ายค่าโง่ 1 เหมือนล้านบาท คนๆ นี้เขารู้กระบวนการมาตั้งแต่ต้น แต่ครั้งนี้ก็ยังบอกว่าต้องจ่าย เรื่องนี้จึงเป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image