เครือข่ายไทยแพน ลั่นสู้คดีหาก “กรมวิชาการเกษตร” ฟ้องหมิ่นกรณีตรวจพบผักปนเปื้อน

ภาพประกอบจากไทยแพน

ตามที่นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และน.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)ได้แถลงว่าผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) ไม่ได้เป็นไปตามหลักการวิจัย มีตัวอย่างน้อยเกินไป ไม่สามารถเป็นภาพรวมปัญหาการตกค้างของสารเคมี และระบุว่าสินค้า Q ยังมีความน่าเชื่อถือ เพราะจากการสุ่มตรวจสินค้า Q เป็นจำนวนมาก มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานไม่ถึง 1% นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) ทำหนังสือส่งถึงผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า จากการติดตามปัญหาการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยต่อเนื่องขอชี้แจงต่อสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ 1.การเฝ้าระวังของไทยแพน เป็นการดำเนินการ “เฝ้าระวัง” ในฐานะผู้บริโภคและองค์กรภาคประชาสังคม มิใช่เป็น “งานวิจัย” เพื่อเสนอภาพรวมปัญหาการปนเปื้อนของประเทศ ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาโดยทั่วไปจำนวนตัวอย่างในการ “เฝ้าระวัง” ของหน่วยงานของรัฐเอง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เอง ก็มีจำนวนตัวอย่างการ “เฝ้าระวัง” ที่ไม่แตกต่างมากนักกับไทยแพน เพราะการตรวจวิเคราะห์เพื่อให้ทราบชนิดและปริมาณการปนเปื้อนในระดับหน่วยส่วนต่อล้านส่วน(ppm)นั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จำนวนตัวอย่างในการตรวจของไทยแพนแต่ละครั้งจึงเป็นจำนวนตัวอย่างในระดับปกติ ในการนำเสนอข้อมูลของไทยแพนทั้งในการนำเสนอโดยวาจา สไลด์นำเสนอ และเอกสารหลักที่ใช้สำหรับเผยแพร่จึงระบุจำนวนตัวอย่างการตรวจสอบอย่างชัดเจน สัดส่วนการพบสารตกค้างเกินมาตรฐาน จึงเป็นสัดส่วนจากจากจำนวนการเก็บตัวอย่าง 138 แยกตามแหล่งจำหน่าย หรือแยกตามชนิดผักผลไม้ หรือแยกตามประเภทตราสินค้า แล้วแต่กรณี ไทยแพนไม่เคยอ้างสัดส่วนการตกค้างดังกล่าวว่าเป็นสัดส่วนภาพรวมของประเทศ

2.ส่วนกรณีคำชี้แจงของกรมวิชาการเกษตรที่อ้างว่าสินค้า Q มีมาตรฐานและพบการปนเปื้อนการเกินมาตรฐานไม่ถึง 1% นั้น ขัดแย้งกับข้อมูลการตรวจสอบของไทยแพน และหน่วยงานอิสระอื่นๆ อาทิ
การสุ่มตรวจผักและผลไม้ที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรป โดยผักและผลไม้จากประเทศไทยที่การส่งออกนั้นต้องได้มาตรฐาน Q-GAP นั้น ข้อมูลล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2015 ของ EFSA(The 2013 European Union report on pesticide residues in food ตีพิมพ์ใน EFSA Journal 2015;13(3):4038 )พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งออกไปจากประเทศไทยเกินมาตรฐานถึง 101 ตัวอย่าง จากตัวอย่างผักและผลไม้ที่สุ่มตรวจทั้งหมด 825 ตัวอย่างหรือคิดเป็น 12.2 % ทำให้สถานะของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกผักและผลไม้ไปยังอียู มีการปนเปื้อนสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 6 จากประเทศที่ส่งออกผักและผลไม้ไปยังอียูทั้งหมด 38 ประเทศ

อนึ่ง การทำงานของไทยแพนยืนอยู่บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เปิดเผย โปร่งใส และมีกระบวนการที่เอื้ออำนวยให้ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และพร้อมที่จะให้มีสาธารณชนพิสูจน์ โดยหากนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรประสงค์จะยื่นฟ้องร้องไทยแพนในฐานหมิ่นประมาท ไทยแพนก็พร้อมที่จะต่อสู้คดีต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image