ถกบทเรียนรพ.เดชา สะท้อนจุดอ่อน สปส. กระทบผู้ประกันตน ร้องนายกฯปฏิรูปด่วน!

จากกรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีคำสั่งปิดโรงพยาบาล(รพ.)เดชา ชั่วคราว 60 วัน เนื่องจากมีปัญหาไม่สามารถให้บริการสาธารณสุขได้อย่างมีมาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แต่หากไม่มีการปรับปรุงตามระยะเวลาดังกล่าว ก็จะสั่งปิดถาวรนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) ร่วมกับชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ร่วมกันแถลงข่าว”กรณีโรงพยาบาล(รพ.)เดชา ถึงเวลาต้องปฏิรูปการบริหารจัดการของระบบประกันสังคม” โดยน.ส.สุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการฯ และตัวแทนชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน แถลงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีประสิทธิภาพการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เพราะจริงๆแล้วก่อนจะทำสัญญากับโรงพยาบาลที่จะเป็นคู่สัญญา ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐาน ความพร้อมต่างๆของโรงพยาบาลก่อนจะโอนงบรายหัวผู้ประกันตนให้แก่โรงพยาบาลนั้นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีสัญญาณ ลางบอกเหตุวิกฤตของโรงพยาบาลเดชามาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 โดยพนักงานไปร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานว่าไม่ได้รับเงินเดือน จึงไม่เข้าใจว่า สปส. อยู่ในกระทรวงแรงงาน ไม่ทราบปัญหาเลยหรืออย่างไร ขณะเดียวกันการลงไปตรวจสอบมาตรฐาน ไม่ทราบหรือว่า มีแพทย์ พยาบาล มีแผนกที่เปิดให้บริการครบตามมาตรฐานของ สบส.หรือไม่ แต่กลับต่อสัญญาให้ผู้ประกันตน 40,000 คนไปรับบริการในโรงพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานเช่นนี้

น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า ที่สำคัญเมื่อเกิดปัญหากลับโยนภาระให้ผู้ประกันตน โดยให้ผู้ประกันตน 40,000 คน ไปใช้สิทธิโรงพยาบาลอื่นๆ ได้ แต่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน ตรงนี้ขอคัดค้านเรื่องการสำรองจ่าย เพราะบางคนไม่มีเงิน และไม่ใช่ภาระที่ผู้ประกันตนต้องมารับสภาพเอง หรือแม้ สปส. จะเลือก 3 รพ. ให้ผู้ประกันตนไปรับบริการ โดยมีรพ.ตำรวจ รพ.เลิดสิน และรพ.ราชวิถี แต่ควรเปิดสิทธิให้ผู้ประกันตนเลือกรพ.ได้มากกว่า 1 ครั้ง เพราะหลายคนอาจไม่สะดวกไปรับบริการดังกล่าว  ถึงเวลาที่ สปส. ต้องปฏิรูปเสียที เพราะพูดกันมานานกว่า 10 ปี แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

“กองทุนประกันสังคม เป็นกองทุนใหญ่อันดับ 2 รองจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) มีผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน แต่การทำงานของสปส.ที่ผ่านมาชัดเจนว่า ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน จึงชวนเชิญผู้ประกันตนทุกคน โดยเฉพาะ 40,000 คนที่รับผลกระทบจากการปิด รพ.เดชา ออกมาเรียกร้องสิทธิ หรือเข้ามาร้องเรียนได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” หรือ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” “ น.ส.สุภัทรา กล่าว

Advertisement

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนานุกูล  กรรมการองค์กรอิสระฯ   กล่าวว่า    สปส. ต้องปฏิรูป  3 เรื่อง คือ 1.สิทธิในการเปลี่ยนหน่วยบริการ ปัจจุบัน สปส.ให้ผู้ประกันตนเปลี่ยนรพ.คู่สัญญาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง แค่ช่วงต้นปีเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากสิทธิบัตรทองที่ให้เปลี่ยนได้ถึงปีละ 4 ครั้ง เมื่อไรก็ได้ เพราะอย่างกรณีผู้ประกันตนที่ย้ายจาก รพ.เดชา ไปตามที่สปส.กำหนด อาจไม่สะดวก และต้องการเปลี่ยนก็จะทำไม่ได้ หากยังใช้ตามเงื่อนไขเดิม   2.ปรับปรุงหน่วยรับเรื่องร้องเรียนของ สปส. หรือ Call Center 1506 ต้องดีเทียบเท่าบัตรทอง อย่างกรณีนี้หากผู้ประกันตนไม่มีเงินสำรองจ่ายทางระบบจะต้องให้คำแนะนำได้ แต่ที่ผ่านมา ตนเป็นผู้ประกันตนคนหนึ่ง โทรไปปรึกษาแทบไม่ได้รับคำแนะนำ แค่จะโทรติดก็ลำบากแล้ว ยิ่งขณะนี้ผู้ประกันตน 40,000 คนจะต้องโทรไปปรึกษา หรือร้องเรียนต่างๆ มีการเตรียมระบบรองรับแล้วหรือไม่ และ 3. ถึงเวลาต้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ยังน้อยกว่าระบบสุขภาพอื่นๆ ทั้งๆที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบทุกเดือน แต่กลับได้สิทธิน้อยกว่า เห็นได้ชัดจากสิทธิทันตกรรม ให้สิทธิเบิกได้เพียงปีละ 600 บาทเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแค่ค่าอุดฟันยังราคา 500 บาท สมควรต้องปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นหรือ อย่างบัตรทองให้สิทธิทำฟันตามความเป็นจริง ไม่มีเพดานด้วยซ้ำ

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และ  ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า การปิดรพ.เดชา มีผลกระทบทั้งผู้ประกันตนที่มารับบริการ 40,000 คน และลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน เนื่องจากรพ.เดชา ซึ่งเป็นนายจ้างยังค้างเงินสมทบจำนวน 8 ล้านบาท ตรงนี้เป็นสัญญาณบอกเหตุแล้ว แต่ทำไม สปส. ยังไม่ตรวจสอบให้ดีกลับต่อสัญญาอีก ยังไม่รวมที่รพ.เดชาค้างเงินกับรพ.จุฬาลงกรณ์ ที่ไม่ไปตามจ่ายกรณีส่งต่อผู้ประกันตนอีกกว่า 32 ล้านบาท และรพ.จุฬาลงกรณ์ก็ไปถามทางสปส.แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจึงต้องกลับมาจุดที่เคยเรียกร้องไปแล้วหลายครั้ง และล่าสุดเคยไปเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ปฏิรูปประกันสังคม แต่นายกฯให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับเรื่อง  ซึ่งทางกลุ่มได้ประสานขอพบรัฐมนตรีฯ จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้เข้าพบ ทั้งๆที่ยุคนี้เป็นยุค คสช. ควรมีการปฏิรูปไปในทางที่ดี จึงมองว่า ยังไม่ถึงเวลาจะปฏิรูปหรืออย่างไร ทั้งๆที่ปัญหามีมากมายขนาดนี้

 นายมนัส โกศล ,น.ส.สุภัทรา นาคะผิว
นายมนัส โกศล ,น.ส.สุภัทรา นาคะผิว

นายโกวิท  สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า  การที่สปส.โอนย้ายผู้ประกันตนไปยังรพ.ตำรวจ เลิดสิน และราชวิถี โดยไม่ได้สอบถามก่อนนั้น เนื่องจากต้องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ผู้ประกันตนได้มีรพ.ไว้บริการ และเชื่อว่ารพ.ทั้ง 3 แห่งมีมาตรฐานที่ดี เป็นรพ.ชั้นนำ ผู้ประกันตนที่ถูกโอนย้ายไปจะไม่ขอปรับเปลี่ยน และสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมนี้ แต่หากผู้ประกันตน รายใดรู้สึกไม่พอใจกับรพ. ที่เลือกให้ก็สามารถไปติดต่อ ที่สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ เพื่อแจ้งขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ภายใน 90 วัน ส่วนกรณีการสำรอง จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปก่อนนั้น  หากไปรักษาที่รพ.จุฬาลงกรณ์ภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้จะไม่เรียกเก็บเงิน ยกเว้นไปรพ.เอกชนแห่งอื่นๆ ก็ต้องสำรองจ่ายก่อนแล้วค่อยมาเบิกคืน โดยจะได้รับเงินคืนในอัตราที่กำหนด ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบ ส่วนการจะเลือกรพ.ใดมาเป็นคู่สัญญานั้น จะพิจารณาหลายข้อ อาทิ เป็นรพ.ขนาด 100 เตียง มีแพทย์ครบ 12 สาขา และมีแพทย์ประจำสาขา 4 คน รวมทั้งต้องไม่เคยถูกร้องเรียนเรื่องมาตรฐานการรักษา หรือมีปัญหาทางด้านการบริการ เป็นต้น

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การตรวจสอบมาตรฐานรพ.คู่สัญญานั้น จะมีการดำเนินการก่อนล่วงหน้า ซึ่งกรณีที่มีข้อท้วงติงว่า เพราะอะไรถึงต่อทั้งๆที่มีพนักงานไปร้องเรื่องค่าจ้างตั้่งแต่ธันวาคม 2558 ต้องให้ข้อมูลว่า ปกติทางสปส.จะเปิดรับสมัคร รพ.ที่ต้องการเป็นคู่สัญญาภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จากนั้นจะส่งทีมออกไปตรวจคุณภาพมาตรฐานต่างๆในเดือนสิงหาคม-กันยายน และสรุปผลไม่เกินตุลาคมหรือพฤศจิกายน จึงจะทำการต่อสัญญา ดังนั้น มีการตรวจมาตรฐานรพ.อย่างแน่นอน

13224265_707799226028950_1190275919_o

บรรยากาศในรพ.เดชา
บรรยากาศในรพ.เดชา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image