5 พรรคจี้ ‘กระจายอำนาจท้องถิ่น’ ชี้คนในพื้นที่รู้ความต้องการดีกว่า

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มธ. ร่วมกับคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนาเดินหน้าเลือกตั้ง 2562 “ท้องถิ่นก้าวไกลต้องกระจายอำนาจ” มีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา พรรคเพื่อไทย นายสรธรรม จินดา พรรคประชาชาติ น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง พรรคสามัญชน อ.ชำนาญ จันทร์เรือง พรรคอนาคตใหม่ นายถวิล ไพรสณฑ์ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายจักรพล ผลละออ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายพิชญ์กล่าวว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการเมืองระดับชาติ ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างเดียว ช่วงที่ผ่านมามีงานวิจัยที่น่าสนใจ พบว่าการกระจายอำนาจไม่ได้รับการขานรับจริงๆ ทั้งจากราชการและนักการเมือง เพราะทุกคนมองระบบการปกครองท้องถิ่นว่ามีไว้โดยไม่ได้ใช้เพราะราชการควบคุม เราจะเห็นว่ายิ่งกระจายอำนาจ ส่วนกลางกลับยิ่งมีอำนาจเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาโครงการถูกขับเคลื่อนระดับท้องถิ่น แต่ไม่ได้ใช้กลไกระดับท้องถิ่น

นายพงศ์เทพกล่าวว่า เรื่องที่มีความสำคัญมากคือการปฏิรูประบบราชการไทย เพราะอำนาจต่างๆ ขณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากกฎหมายทั้งสิ้น และหลายฉบับให้อำนาจตั้งแต่ก่อนเราเกิดด้วยซ้ำ หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปเยอะแต่เรายังใช้กฎหมายที่ให้อำนาจรัฐราชการเหมือนเดิม ถามว่าราชการอยากแก้ไขหรือยกเลิกหรือไม่ การแก้ไขก็เท่ากับลดอำนาจตัวเอง สิ่งที่ต้องเริ่มคือกับมาทบทวนว่าระบบราชการไทยอะไรบ้างที่ควรจะยังมีและควรจะยกเลิก ซึ่งถ้าให้ราชการทำก็คงสำเร็จยาก เพราะมีส่วนได้เสียของผู้ทำมาเกี่ยวข้อง ต้องทบทวนกฎหมายว่าอำนาจรัฐที่มีอยู่ควรมีเรื่องอะไรบ้าง อำนาจส่วนไหนที่ควรกระจายให้กับท้องถิ่น ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจไปไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควร ขนาดมี พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจไว้หลังมีรัฐธรรมนูญปี 2540 บอกวิธีเพิ่มสัดส่วนงบท้องถิ่นให้ได้ 35 เปอร์เซ็นต์ ของงบแผ่นดิน วิธีที่จะเพิ่มงบท้องถิ่นได้ คือขยับข้าราชการครูและบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเข้าไป การนำสัดส่วนงบประมาณเป็นตัวตั้งก็อาจจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็อาจไม่ได้ช่วยสักเท่าไหร่เพราะถ้าอำนาจบริหารอยู่กับกระทรวงอื่นก็ไม่ต่างกัน

“ในส่วนของนายก อบจ. ผู้ว่าราชการจังหวัดสูงกว่า แต่ถ้าจัดระบบจริงๆ แล้ว นายก อบจ. ควรจะเป็นเบอร์หนึ่งในจังหวัด ส่วนกลางก็อาจจะเป็นอีกสถานะหนึ่ง ถ้าอยากจะให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น กทม. ต้องมีการมอบอำนาจให้กับการปกครองท้องถิ่น ซึ่งมีการทุจริตน้อยกว่าถ้าอำนาจไปอยู่ในท้องถิ่น แต่จะต้องสอนเรื่องประชาธิปไตยในท้องถิ่น ประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้มาก ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่จะถ่ายโอนอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดไป สู่นายก อบจ. และจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น ส่วนอื่นๆ พรรคจะใช้นโยบายปฏิรูประบบราชการ รวมทั้งกองทัพ โดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งประชาชนตรวจสอบได้” นายพงศ์เทพกล่าว

Advertisement

นายถวิลกล่าวว่า เรื่องการกระจายอำนาจเป็นอุดมการณ์ของพรรคตั้งแต่วันแรกในปี พ.ศ. 2485 คือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและธรรมาภิบาล มีการแก้ไขอำนาจหลายฉบับเพื่อกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่เมื่อมีการรัฐประหารก็กลายเป็นเดินไปข้างหน้าแล้วถอยกลับมา โดยนโยบายของพรรคคือ 1.รวม อบจ.ให้เป็นองค์กรเดียวกัน และ 2.จังหวัดต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างกว้างขวาง ยกเว้นของส่วนกลาง เช่น การป้องกันประเทศ  การบริหารส่วนท้องถิ่นต้องทำตามความต้องการของประชาชน 3.จังหวัดมีอำนาจตามกฎหมาย จังหวัดมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งระดับจังหวัด และระดับพื้นที่และมีสภาพลเมือง เพื่ือมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้วย และกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐบาลไม่ซ้ำซ้อนกัน โดยต้องมีหน่วยงานอิสระดูระหว่างรัฐกับท้องถิ่น และยังมีนโยบายด้านบริหาร ที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างของ กทม. เราต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต และให้มีการปกครอง 2 ระดับ คือ ผอ.เขต และนครบาล

นายสรธรรมกล่าวว่า พรรคประชาชาติส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม เคารพความแตกต่างทางชาติพันธุ์ รวมถึงความเชื่อและอุดมการณ์ ที่เชื่ือว่ามนุษย์มีสิทธิ โอกาส และมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน การกระจายอำนาจจึงเป็นจุดสำคัญที่สุดที่จะขับเคลื่อนและนำไปสู่นโยบายที่จะต้องตามมา เราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจมากสุดคือปี 2540 จนปี พ.ศ.2549 ท้องถิ่นต้องหยุดชะงักจากการปฏิวัติ จากที่จะเดินเร็วกลายเป็นคลานบ้างวิ่งบ้าง วันนี้การทำงานของท้องถิ่นยากลำบากมาก ในส่วนของพรรคมีนโยบาย 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.เอาอำนาจส่วนภูมิภาคและส่วนกลางตามจังหวัดต่างๆ ไปให้ท้องถิ่น ยกเว้นเรื่องความมั่นคง และ ความยุติธรรมและองค์กรอิสระที่อยู่ตามจังหวัด โดยวิธีการคือเอาอำนาจส่วนกลางและภูมิภาค ที่ไม่ใช่งานของส่วนกลางและภูมิภาคไปทำบ้างเป็นบางชิ้นงาน แต่ต้องให้คนในส่วนภูมิภาคไปขึ้นกับท้องถิ่น และต้องเอาเงินที่แฝงอยู่ในอำนาจส่วนกลางนั้นไปให้ท้องถิ่น

“ต้องยอมรับว่าปมด้อยของท้องถิ่นคือ พวกที่โกง คนที่มาเอาประโยชน์ของคนที่ไม่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตั้งแต่ คสช.ทำงาน มีมาตรา 44 ออกมาเป็นร้อยฉบับ ซึ่งเป็นการควบคุมอย่างเดียวไม่มีการส่งเสริม วันนี้ผู้บริหารท้องถิ่นได้ใช้ความสามารถและอำนาจเพียงครึ่งเดียว ในส่วนของการมอบอำนาจอีกเรื่องคือมอบภารกิจให้กับเขา ทั้งเรื่องคน เงิน และเรื่องของเครื่องมือให้กับเขา อย่าลืมว่าท้องถิ่นมีแนวคิดอย่างนึงคือเป็นนักการเมือง 4 ปีข้างหน้า ถ้าต้องการเข้ามาอีก วิธีการคือทำอะไรก็ได้ให้ชาวบ้านรักและเลือกเขา ในส่วนของพรรคเอง มีการเชื่อมโยงนโยบายทุกด้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสาธารณสุขในพื้นที่ เรามี นโยบาย 1 แพทย์ 1 อนามัย หมายความว่าโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่บนอนามัยเก่า ทุกแห่งจะต้องมีแพทย์ 1 คน เพราะแพทย์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีจำนวนเกือบเท่ากับแพทย์ในจังหวัดต่างๆ รวมกันทั้งประเทศ”

นายชำนาญกล่าวว่า พรรคการเมืองแทบทุกพรรคเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่บางพรรคก็ไม่เห็นด้วย อนาคตใหม่ใช้คำว่า “กระจายอำนาจ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์” หลังรัฐประหาร คสช.มีคำสั่งและประกาศกว่า 19 ฉบับรวมถึงการยุติการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด ออกคำสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่มีการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นอย่างแรกที่จะทำคือ มาตรการคือยกเลิก กฎหมาย คสช.ที่เป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ

ด้าน น.ส.ชุมาพรกล่าวว่า พรรคสามัญชนได้ประกาศนโยบายและวิสัยทัศน์ คือ ต้องการที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำเรื่องการเมืองและการสร้างพื้นที่ให้กับประชาชนให้ตัดสินใจอนาคตได้ด้วยตัวเอง เพราะพรรคสามัญชนเกิดขึ้นจากชุมชน

“เราเชื่อว่าคนในพื้นที่เท่านั้นถึงจะรู้ว่าความมั่นคง ความปลอดภัยของคนในพื้นที่คืออะไร จึงสนับสนุนการจัดการตัวเองของท้องถิ่น ซึ่งจะต้องโยงกับหลักประชาธิปไตย สิทธิและ มนุษยธรรม ท้องถิ่นต้องเลือกได้ว่าต้องการออกกฎหมายอะไรให้จังหวัด และการจัดการกฎหมายของจังหวัดต้องมาจากประชาชน การจัดการท้องถิ่นจึงไม่ได้พูดเฉพาะว่าใครขึ้นมาปกครอง แต่คือพูดว่าท้องถิ่นต้องการอะไร เพราะเสียงของคนพื้นที่ไม่มี การจัดการท้องถิ่นจึงล้มเหลวไปด้วย”

น.ส.ชุมาพรกล่าวว่า การยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่รูปแบบการศึกษาของไทย ต้องเปลี่ยนเพื่อทำความเข้าใจว่าการปกครองท้องถิ่นสำคัญกับทุกคน เราฝันอยากเห็นการปกครองส่วนท้องถิ่น และหากต้องการกระจายอำนาจและเปลี่ยนแปลง ต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงขึ้นมาพูดได้ด้วยว่าเขาต้องการอะไร เรียกร้องวัฒนธรรมชุมชนได้ ดังนั้นจึงไม่ควรมองแค่ระบบรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่วัฒนธรรมประเพณี ต้องถูกหยิบขึ้นมาพูดพร้อมกันด้วย

นายพิชญ์กล่าวว่า ทุกพรรคที่มาเห็นด้วยกับการลดบทบาทของกระทรวงมหาดไทย และทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น ส่วนตัวต้องการให้ยุบกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ย้ายไปเป็นสำนักที่ขึ้นตรงกับนายกฯ โดยเอาออกจากกระทรวงมหาดไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image