เปิดจม.ผอ.สำนักปวศ. สมาคมสถาปัตย์ลอนดอน ตอบ ‘ราชสกุลจิตรพงศ์’ ปมคอนโดใกล้ตำหนักปลายเนิน

เปิดจม.ฉบับเต็ม ผอ.สำนักปวศ. สมาคมสถาปัตย์ลอนดอน ตอบ ‘ราชสกุลจิตรพงศ์’ ปมคอนโดใกล้ตำหนักปลายเนิน สืบเนื่องกรณีราชสกุลจิตรพงศ์ รวมถึงกระแสสังคมไทยส่วนหนึ่งร่วมกันคัดค้านการก่อสร้างคอนโดมีเนียมใกล้พระตำหนักปลายเนิน คลองเตย ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ มีการเปิดเผยเนื้อความในจดหมายตอบกลับของมาร์ก คัสซินส์ ผู้อำนวยการสำนักประวัติศาสตร์และทฤษฎี สมาคมสถาปัตยกรรม วิทยาลัยสถาปัตยกรรมแห่งกรุงลอนดอน โดยเป็นความคิดเห็นของบุคคลดังนี้ เรียนผู้เกี่ยวข้อง ราชสกุลจิตรพงศ์ได้สอบถามมายังผม มาร์ก คัสซินส์ ผู้อำนวยการสำนักประวัติศาสตร์และทฤษฎี สมาคมสถาปัตยกรรม วิทยาลัยสถาปัตยกรรมแห่งกรุงลอนดอนถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ผมเข้าใจว่าได้มีการอนุมัติอีไอเอแม้ว่าจะมีการข้ามขั้นตอนในการดำเนินการและเอกสารที่ยื่นเข้ามาเพื่อขอรับการพิจารณา ผมเองได้ศึกษาและรับทราบถึงความสำเร็จของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ความสนใจในพระประวัติของสมเด็จฯ นั้นเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความสนใจของผมที่มีต่อวัฒนธรรมไทย จึงอาจกล่าวโดยสังเขปถึงทัศนะของผมได้ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทรงเป็นปูชนียบุคคลผู้ทรงพระปรีชาในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ศิลปะและหัตถกรรมไทยออกมาในรูปแบบของงานวิจิตรศิลป์ แนวความคิดที่ว่าการพิเคราะห์ความสำเร็จของศิลปะและหัตถกรรมไทยนั้นพึงกระทำในฐานะงานวิจิตรศิลป์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อระดับความเข้าใจที่ชาวต่างชาติมีต่อความยิ่งใหญ่ของศิลปะและหัตถกรรมของไทย คุณูปการที่ได้ทรงก่อเกื้อได้ก่อกำเนิดเป็นองค์ความรู้ที่ผู้ศึกษาด้านวิจิตรศิลป์หรือประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมในระบบมหาวิทยาลัยของไทยได้ใช้ศึกษาเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้นยังได้ทรงมุ่งมั่นกับการบันทึกและศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะและหัตถกรรมโดยเรียนรู้ผ่านผลงานวิจิตรศิลป์ในประเทศไทย และเพื่อความสำเร็จตามพระปณิธานที่ได้ทรงตั้งไว้ ทรงอุทิศเวลาตลอดในพระชนม์ชีพเพื่อการนั้น จนก่อกำเนิดเป็นผลงานที่คนไทยในปัจจุบันยังมีโอกาสได้ประโยชน์นานัปการ ผมเข้าใจว่าพระตำหนักของสมเด็จฯ รวมถึงที่ดินอันเป็นที่ตั้งของพระตำหนักได้ยืนหยัดผ่านห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่มีความซับซ้อน ด้วยเหตุนี้ สมาชิกราชสกุลจึงมีความประสงค์ที่จะปรับปรุงพระตำหนักให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมและศึกษา ในฐานะที่ไม่เพียงแต่เป็นอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เท่านั้นแต่ยังเป็นสถานที่ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต ในส่วนของผมเองนั้น หากความพยายามนี้เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร ก็คงมีอีกหลากหลายวิธีที่จะรักษา พระตำหนักดังกล่าวไว้ ไม่ว่าจะผ่านทางองค์การอนุรักษ์แห่งชาติ องค์การอนุรักษ์แห่งสหราชอาณาจักร ฯลฯ ซึ่งล้วนมาพร้อมสิทธิตามกฎหมายในการจำกัดการพัฒนาพื้นที่แวดล้อมซึ่งผมเห็นว่าการพิจารณาประเด็นเหล่านี้ต้องดำเนินการในหลายมิติ รวมถึงการพิจารณาว่าพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองนั้นต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่รุกคืบเข้ามา อันได้แก่การจำกัดการก่อสร้าง ระยะเวลาและจำนวนชั่วโมงที่ใช้ ในการก่อสร้าง ระดับเสียงรบกวน และเหนือสิ่งอื่นใด คือต้องพิจารณาว่าการก่อสร้างดังกล่าวจะทำอันตรายต่อสิ่งปลูกสร้างหรือที่ตั้งสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวหรือไม่ ประเด็นสำคัญที่ผมต้องการกล่าวถึงคือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำขอเพื่อรับการอนุมัตินั้น บางครั้งการก่อสร้างที่ได้รับการอนุมัติก็ก่อให้เกิดผลเสียกับสิ่งปลูกสร้างหรือที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างนั้น ที่สำคัญคือ พระตำหนักของสมเด็จฯ มีความสำคัญมากเกินจะประมาณค่าได้หากได้รับความเสียหาย ประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นคงมิใช่ว่าจะใช้วิธีการซ่อมแซมอย่างไรให้ดีดุจเดิม แต่คือการที่สิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าอนันต์ได้ถูกทำลายไปจากวัฒนธรรมไทยไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน นอกจากนี้ จากมุมมองด้านสถาปัตยกรรม พระตำหนักของสมเด็จฯ ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงนัก โครงสร้างพระตำหนักมิได้ถูกออกแบบให้ทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการก่อสร้างข้างเคียง โดยเฉพาะการก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้ตัวพระตำหนักมากและเท่าที่ทราบ ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดวิเคราะห์แรงสั่นสะเทือนที่อาจเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของพระตำหนัก และการอนุมัติอีไอเอที่ผู้พัฒนาโครงการได้รับมานั้นก็มิได้มีการพิจารณาประเด็นที่ได้กล่าวมา การดำเนินการยื่นขออนุมัติอีไอเอดำเนินไปโดยมิได้พิจารณาประเด็นด้านความปลอดภัยของโครงสร้างพระตำหนักและคุณค่าของสิ่งปลูกสร้างที่มิอาจซ่อมแซมหรือสร้างทดแทนได้ ซึ่งถือเป็นเป้าประสงค์สำคัญในยามที่ประเทศไทยส่งเสริมและให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรมและใช้คุณค่าอันเกิดจากมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นเครื่องดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ การเพิกเฉยไม่ให้ความสำคัญกับผลกระทบอันอาจเกิดต่อสิ่งปลูกสร้างที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมจึงไม่เพียงไม่สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หากแต่ยังขัดต่อนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าหากพระตำหนักและอุทยานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ได้รับการปกปักษ์คุ้มครองอย่างเหมาะสมแล้ว สถานที่ดังกล่าวจะเป็นสถานที่สาธารณะที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ผมยังมีความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า หากไม่พบว่าได้มีการทดสอบและวิเคราะห์ความเสียหายที่อาจเกิดต่อพระตำหนักและที่ดินของสมเด็จฯ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ และควรชะลอการก่อสร้างออกไปจนกว่าจะได้มีการทดสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงดังกล่าวจากหน่วยงานอิสระ การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายอย่างร้ายแรงที่อาจเกิดต่อโครงสร้างพระตำหนักและที่ดินของสมเด็จฯ ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่อาจมีสิ่งใดมาทดแทนได้โดยแท้จริง ขอแสดงความนับถือ มาร์ก คัสซินส์ ผู้อำนวยการสำนักประวัติศาสตร์และทฤษฎี สถาปัตยกรรมสมาคม วิทยาลัยสถาปัตยกรรม

Mark Cousins ผอ.สำนักประวัติศาสตร์และทฤษฎี สมาคมสถาปัตยกรรม วิทยาลัยสถาปัตยกรรมแห่งกรุงลอนดอน (ภาพจาก aaschool.ac.uk)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image