น้ำบาดาลแก้แล้งลพบุรี-ช่วยชีวิต ‘จำปีสิรินธร’

นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับมอบหมายให้เข้าไปดูแลพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกต้นจำปีสิรินธร พืชหายาก ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2549 มีพื้นที่เป็นสภาพพรุน้ำจืด จำนวน 141 ไร่ เดิมมีต้นจำปีสิรินธร 517 ต้น แต่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เกิดสภาพฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้ต้นจำปีสิรินธรยืนต้นตายกว่าครึ่งหนึ่ง คงเหลือในปัจจุบันประมาณ 225 ต้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้แก้ไขปัญหาโดยเข้าไปสำรวจทางธรณีวิทยาเพื่อหาจุดเจาะที่เหมาะสมในการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลบริเวณสวนป่าจำปีสิรินธร โดยบูรณาการร่วมกับ จ.ลพบุรี และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (จำปีสิรินธร) เพื่อจัดหางบประมาณสำหรับการเจาะบ่อน้ำบาดาล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าและระบบพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งสิ้น 3 จุด โดย 2 จุดแรก ตั้งอยู่บริเวณหัวป่าจำปีสิรินธร บ่อน้ำบาดาลบ่อที่ 1 ความลึก 104 เมตร ขนาดบ่อ 150 มิลลิเมตร มีปริมาณน้ำ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ติดตั้งเครื่องสูบขนาด 3 แรงม้า ใช้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 3,200 วัตต์ บ่อน้ำบาดาลบ่อที่ 2 ความลึก 72 เมตร ขนาดบ่อ 150 มิลลิเมตร มีปริมาณน้ำ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ติดตั้งเครื่องสูบขนาด 3 แรงม้า ใช้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 3,200 วัตต์ และอีก 1 จุด บริเวณสำนักงานของสวนป่าจำปีสิรินธร เป็นบ่อน้ำบาดาลบ่อที่ 3 ความลึก 62 เมตร ขนาดบ่อ 150 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำ 4 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ใช้กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

นายสุพจน์กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 บ่อ บริเวณหัวป่าจำปีสิรินธร สูบน้ำด้วยอัตราการสูบประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สามารถสูบเข้าสู่ฝายต้นน้ำเพื่อเข้าสู่ป่าจำปีสิรินธรได้วันละ 350-500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเริ่มสูบน้ำมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 ได้ปริมาณน้ำบาดาลกว่า 18,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของ “ป่าจำปีสิรินธรแห่งเดียวในโลก” ให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งนี้ไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image