‘บิ๊กฉัตร’ ผนึก 6 หน่วยงานประกาศมาตรการขับเคลื่อน ‘สังคมสูงวัย’ เป็นวาระแห่งชาติ

สังคมสูงวัย

‘บิ๊กฉัตร’ ผนึก 6 หน่วยงานประกาศมาตรการขับเคลื่อน ‘สังคมสูงวัย’ เป็นวาระแห่งชาติ

สังคมสูงวัย – เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานในพิธีประกาศ “ระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ” โดยมีผู้บริหาร 6 กระทรวง ได้แก่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยและผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรเอกชน องค์กรผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุเข้าร่วม จัดโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว และจะเป็นสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบคือมีประชากรสูงวัยร้อยละ 20 ต่อประชากรทั่วไปในปี 2564 ซึ่งสังคมสูงวัยมีผลกระทบชัดเจนต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เพราะเป็นสถานการณ์ที่เด็กเกิดน้อยลง คนสูงอายุมากขึ้น จะเห็นว่าคนวัยแรงงานกำลังจะมีปัญหา

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ได้รับทราบข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่าอีก 15 ปีข้างหน้า เราจะต้องใช้งบประมาณดูแลประชากรทุกช่วงวัยถึง 1.4-1.8 ล้านล้านบาทต่อปี ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก สังเกตได้จากงบประมาณที่นำมาจ่ายเงินผู้สูงอายุ 3-4 ปีหลังที่ตัวเลขก็สูงขึ้นๆ ฉะนั้นจึงต้องมีการเตรียมการที่รอบคอบกับปัญหาที่จะเกิดในอนาคต รัฐบาลจึงมีมติให้เรื่องสังคมสูงวัยเป็นวาระแห่งชาติ โดยมี 10 มาตรการขับเคลื่อนผ่าน 6 กระทรวงหลัก แต่ทั้งนี้ จะขับเคลื่อนสำเร็จได้ต้องอาศัยภาคส่วนต่างๆมาร่วม จึงขอเชิญชวนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนมาร่วมขับเคลื่อนเตรียมการสังคมสูงวัยไปด้วยกัน ทำอย่างไรที่คนไทยจะรวยก่อนแก่ ไม่ใช่แก่ก่อนรวยอย่างปัจจุบัน ซึ่งคงต้องไปส่งเสริมการออมเงินตั้งแต่วัยทำงาน เมื่อสูงวัยแล้วก็ควรได้ทำงานมีรายได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ได้ฝากไปยังผู้บริการแต่ละหน่วยงานเห็นความสำคัญตรงนี้และขับเคลื่อนต่อไปไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามา เพราะเป็นเรื่องจำเป็นจริงๆ และตนขอฝากรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ให้สานต่อนโยบายหรือเพิ่มเติมนโยบายด้านนี้ แต่ขออย่าละเลย

ขณะที่ นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดพม. กล่าวว่า สำหรับ 10 มาตรการที่จะดำเนินการ มีอาทิ การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ, การส่งเสริมการมีทำงานและการสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ, การปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ, การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้านผู้สูงอายุ, การปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการดูแล คุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในทุกมิติ ให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ด้วยคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image