อาจารย์มหิดลจี้รัฐคลอด ‘พ.ร.บ.ยาสูบ’ฉบับใหม่ หวังปกป้องกลุ่มเจนแซดจากภัยบุหรี่

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่โรงแรมเอเชีย น.ส.ศรัญญา เบญจกุล อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “Gen Z Gen STRONG :ไม่สูบ” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิว่า จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่พ.ศ. 2534 – 2558 พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคนในปี 2534 เป็น 10.9 ล้านคนในปี 2558 ในจำนวนนี้ พบว่าเป็น Gen Z ที่มีอายุ 15-18 ปี ถึง 3.1 แสนคน ซึ่งหากช่วยกันปกป้อง Gen Z จากการเริ่มสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ก็จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ได้ถึงร้อยละ 90 แต่จากผลสำรวจนั้นยังพบว่ามีการลดลงที่ไม่ชัดเจนมากพอ

“คนใน Gen Z โตมาพร้อมกับกฎหมายควบคุมบุหรี่อยู่แล้วจึงทำให้วัยรุ่นสูบบุหรี่ได้ยากขึ้นกว่าเดิม แต่ที่ยังมีส่วนที่สูบบุหรี่อยู่เนื่องจากยังมีสิ่งเร้า มีสิ่งดึงดูดใจให้สูบ อย่างเช่นร้านค้าที่เปิดโชว์บุหรี่ขายอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ห้ามโชว์ให้เห็น มีโฆษณา มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดึงดูดใจอยู่ ดังนั้นควรจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วย เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดวัยรุ่นเข้ามาสูบบุหรี่ได้ง่ายที่สุด” น.ส.ศรัญญากล่าว

นายจิระวัฒน์ อยู่สะบาย นิติกรจากสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การป้องกันนักสูบหน้าใหม่เป็นมาตรการที่สำคัญ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบของประเทศไทย ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 นั้น ใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ยังล้าสมัยและมีช่องโหว่ที่ทำให้ธุรกิจยาสูบใช้เป็นเครื่องมือในการขยายธุรกิจมาโดยตลอด จึงจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพราะมีมาตรการในการปกป้องเด็กจากเข้าถึงบุหรี่ เช่น การห้ามแยกซองบุหรี่ขายเป็นรายมวน

image

Advertisement

วันเดียวกัน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงรายงานการวิจัยจากศูนย์วิจัยควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ว่า ผลวิจัยพบว่า หากสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ร้อยละ 10 จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคได้ 63 พันล้านเหรียญ หรือกว่า 220,000 ล้านบาท จากการลดจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ อาทิ โรคหัวใจและเส้นเลือดสมอง รวมถึงเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และลดความสูญเสียจากโรคที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง รายงานระบุว่าการลดลงของค่ารักษาพยาบาลเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น หลังจากที่อัตราการสูบบุหรี่ลดลง เนื่องจากคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้ 1 ปี โอกาสเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจหรือเส้นเลือดสมองอุดตันเฉียบพลันจะลดลงครึ่งหนึ่งทันที

“ขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยไม่ได้ลดลงเลยใน 5 ปีหลัง เพียงแต่ป้องกันไม่ให้อัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากกลยุทธ์การตลาด ทั้งการตัดราคาและการแข่งกันส่งเสริมการขายเท่านั้น ยังมีจุดอ่อนในการช่วยคนเลิกสูบ โดยยาอดบุหรี่ยังไม่อยู่ชุดสิทธิประโยชน์ของประกันสุขภาพทั้งสามระบบ ในขณะที่ฝ่ายต่างๆ พยายามที่จะเรียกร้องให้มีการลดงบประมาณรักษาโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพหรือ สปสช. สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือเร่งรัดสนับสนุนการควบคุมยาสูบ ทั้งมาตรการทางกฎหมายที่ให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เดินหน้าสู่การพิจารณาและประกาศใช้โดยเร็ว” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image